ในขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษกำลังหารือว่าจะอนุญาตให้ยูเครนนำอาวุธของตะวันตกไปใช้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียหรือไม่ ล่าสุดเจ้าหน้าที่อเมริกันบางคนออกมาแสดงท่าที “ไม่มั่นใจ” ว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้ยูเครนจนถึงขั้นพลิกสถานการณ์ในสงครามได้
นายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ แห่งอังกฤษ เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) เพื่อหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเปิดไฟเขียวให้ยูเครนนำอาวุธที่ได้จากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ไปใช้ถล่มเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปจากพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ เองยังไม่อนุญาตตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา
รอยเตอร์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อเมริกันบางคนซึ่งให้ความเห็นว่า ยูเครนมีศักยภาพที่จะจู่โจมเป้าหมายภายในรัสเซียด้วย “โดรน” อยู่แล้ว และแม้ระบบขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ อาจจะช่วยให้การโจมตีมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ทว่าต้นทุนของระบบอาวุธชนิดนี้สูงเกินไป และมีจำนวนจำกัดเกินกว่าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังเชื่อว่ารัสเซียน่าจะเคลื่อนย้ายระเบิดร่อนที่ยิงจากเครื่องบินขับไล่ (warplane launching glide bombs) ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดสำหรับยูเครน ออกไปไกลเกินกว่าพิสัยโจมตีของขีปนาวุธสหรัฐฯ แล้วด้วย
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ยังมองว่า เคียฟควรหันไปเน้นป้องกันไม่ให้รัสเซียสามารถรุกคืบยึดดินแดนทางตะวันออกได้เพิ่มมากกว่า
สำหรับประธานาธิบดี ไบเดน การตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงสำคัญในแง่ของยุทธวิธี แต่ยังก่อคำถามสำคัญด้วยว่าการอนุญาตให้ยูเครนทำเช่นนั้นจะดึงนาโตเข้าสู่สงครามโดยตรงกับรัสเซียหรือไม่?
รัสเซียได้เตือนผ่านเวทีประชุมสหประชาชาติเมื่อวานนี้ (13) ว่า การอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธตะวันตกโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียจะทำให้นาโต “กลายเป็นหุ้นส่วนโดยตรงในความขัดแย้งกับมหาอำนาจนิวเคลียร์” และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ก็เคยออกมาพูดแล้วว่า การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้ขอบเขตของสงครามเปลี่ยนแปลงไป
จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงวานนี้ (13) ว่าสหรัฐฯ มองคำขู่ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงจัง แม้ว่าสิ่งที่ ปูติน พูดจะไม่ใช่เรื่องใหม่ก็ตาม
เจสัน ครอว์ ส.ส.พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการกิจการต่างประเทศและข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีไม่ยี่หระคำขู่ของ ปูติน และไม่เชื่อว่ารัสเซียจะกล้าโจมตีโปแลนด์หรือรัฐสมาชิกนาโตเพื่อเป็นการแก้แค้น
“ผมไม่เชื่อว่า วลาดิมีร์ ปูติน จะกล้าหาเรื่องทำสงครามกับนาโต” เขาให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมชี้ว่ารัสเซียสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธในยูเครนไปมากมายแล้ว
“ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าเขาพยายามเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับนาโตโดยตรง”
ระหว่างแถลงที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ในเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกร้องให้ทั้งสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมองข้าม “เส้นแดง” ที่รัสเซียขีดไว้ และอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลของตะวันตกโจมตีดินแดนภายในรัสเซียเพื่อกดดันให้ ปูติน ยอมยุติสงคราม
“เราไม่เพียงต้องมีศักยภาพด้านการโจมตีระยะไกลภายในดินแดนยูเครนที่ถูกยึดครองอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงในดินแดนรัสเซียด้วย เพื่อที่จะกระตุ้นให้รัสเซียแสวงหาสันติภาพ” เซเลนสกี กล่าว
นักการทูตยุโรป 2 คนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า ยูเครนได้ยื่นรายชื่อเป้าหมายต่างๆ ภายในรัสเซียที่พวกเขามีแผนจะโจมตี --- หากได้รับไฟเขียวจากชาติตะวันตก
ก่อนหน้านี้ ยูเครนหวังที่จะใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ของสหรัฐฯ ยิงโจมตีฐานทัพภายในรัสเซีย แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ว่า ระเบิดร่อนที่รัสเซียใช้ยิงจากเครื่องบินขับไล่ประมาณ 90% ถูกเก็บเอาไว้ตามฐานทัพอากาศซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ควบคุมของยูเครนไม่ต่ำกว่า 300 กิโลเมตร ซึ่งไกลเกินกว่าพิสัยทำการของ ATACMS
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า เวลานี้ยูเครนหวังที่จะใช้ ATACMS ยิงทำลายศูนย์บัญชาการ คลังอาวุธ และค่ายทหารของรัสเซียแทน นอกจากนี้ก็ยังหวังที่จะใช้ขีปนาวุธ Storm Shadow ของอังกฤษ และขีปนาวุธ SCALP ของฝรั่งเศสยิงโจมตีเป้าหมายภายในรัสเซียด้วย
ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษน่าจะขอความเห็นชอบจากสหรัฐฯ ก่อนที่จะลดข้อจำกัดในการใช้งานขีปนาวุธ Storm Shadow แต่นักการทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งยืนยันว่า ปารีสไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากสหรัฐฯ ในการที่จะเปิดไฟเขียวให้เคียฟนำขีปนาวุธของฝรั่งเศสไปใช้
ที่มา : รอยเตอร์