xs
xsm
sm
md
lg

สะพรึง!นักวิทย์เฉลยต้นตอแรงสั่นปริศนา สึนามิยักษ์ 200 เมตรเขย่าโลก 9 วันเมื่อปีที่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากกองทัพเรือเดนมาร์ก
พวกนักวิทยาศาสตร์เผยเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในบริเวณภูเขาน้ำแข็ง ในอ่าวแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคกรีนแลนด์ คือต้นตอที่ก่อแรงสั่นสะเทือนปริศนาที่ "เขย่าโลก" เป็นเวลา 9 วัน เมื่อปีที่แล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวบีบีซี

สัญญาณเกี่ยวกับการสั่นสะเทือนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถูกจับได้โดยระบบเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ทั่วโลก กระตุ้นให้พวกนักวิทยาศาสตร์ดำเนินการตรวจสอบหาแหล่งที่มาของแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว

สุดท้ายพวกนักวิทยาศาสตร์พบว่าเหตุดินถล่ม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หินปริมาณมากถล่มลงไปในทะเล พร้อมกับธารน้ำแข็งได้จุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 200 เมตร แต่ด้วยคลื่นยักษ์ดังกล่าวติดอยู่ในอ่าวแคบๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างหน้าผาสูงชัน ทำให้มันซัดกลับไปกลับมาเป็นเวลานานถึง 9 วัน จนเกิดแรงสั่นสะเทือนปริศนาดังกล่าว

พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเหตุดินถล่มพร้อมธารน้ำแข็งเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) ทำให้ธารน้ำแข็งที่คอยค้ำยันภูเขาในกรีนแลนด์ละลาย

ผลจากการสืบสวนเหตุการณ์นี้ ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Scienc เป็นผลลัพธ์ของภารกิจสืบค้น ที่เกี่ยวข้องกับทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติและกองทัพเรือเดนมาร์ก

"ตอนที่เพื่อนร่วมงานตรวจพบสัญญาณนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว มันดูไม่เหมือนกับแผ่นดินไหวเท่าไหร่ เราเรียกมันว่าสิ่งไหวสะเทือนที่ไม่สามารถระบุได้" จากคำกล่าวของดอคเตอร์สตีเฟน ฮิคส์ จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสืบสวน "มันปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 90 วินาที เป็นเวลา 9 วัน"

เหล่านักวิทยาศาสตร์เริ่มหารือกันผ่านแชตออนไลน์ "ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมงานจากเดนมาร์ก ซึ่งทำงานภาคสนามในกรีนแลนด์บ่อยมาก ก็ได้รับรายงานว่าเกิดสึนามิขึ้นที่ฟยอร์ดห่างไกลแห่งหนึ่ง เราก็เลยมาร่วมมือกัน" ดร.ฮิกส์กล่าว

คณะทำงานใช้ข้อมูลแรงสั่นสะเทือนหาตำแหน่งต้นตอของสัญญาณ จนนำไปสู่ดิกสัน ฟยอร์ด (อ่าวดิกสัน) ทางตะวันออกของกรีนแลนด์ จากนั้นพวกเขาก็รวบรวมเบาะแสอื่นๆ ในนั้นรวมถึงภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายจากดิกสัน ฟยอร์ด ที่ถ่ายโดยกองทัพเรือเดนมาร์ก ไม่นานก่อนที่สัญญาณปรากฏ

ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นเมฆฝุ่นในลำธารของฟยอร์ดแห่งนี้ ขณะที่การเปรียบเทียบภาพถ่ายก่อนและหลังเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าภูเขาถล่มลงมาและหอบส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งลงทะเลไปด้วย โดยพวกเขาเชื่อว่า หินที่ตกลงไปมีปริมาณมากถึง 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับตึกเอมไพร์สเตท 25 ตึก พุ่งกระแทกน้ำ ทำให้เกิดคลื่นสึนามิมหึมาสูงถึง 200 เมตร

ตามปกติแล้ว สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ดินโดยทั่วไปจะสลายตัวไปอีกภายในไม่กี่ชั่วโมงในทะเลเปิด แต่คลื่นที่เกิดขึ้นครั้งนี้ติดอยู่ในอ่าวแคบๆ "ดินถล่มเกิดขึ้นในแผ่นดินห่างจากทะเลเปิดราว 200 กิโลเมตร" ดร.ฮิกส์กล่าว "และด้วยอ่าวแห่งนี้ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้คลื่นไม่สามารถกระจายสลายพลังงานออกไปได้"

ทีมนักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า แทนที่จะกระจายตัวไป คลื่นกลับซัดปะทะภูเขากลับไปกลับมานานถึง 9 วัน "เราไม่เคยพบเห็นความเคลื่อนไหวของน้ำทะเลในขนาดใหญ่เช่นนี้และเป็นเวลานานเช่นนี้มาก่อนเลย" ดร.ฮิกส์ กล่าวระบุ

(ที่มา : บีบีซี)


กำลังโหลดความคิดเห็น