รัสเซียแถลงในวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) ว่าสามารถช่วงชิงดินแดนในแคว้นคูร์สก์ ทางภาคตะวันตกของแดนหมีขาว กลับคืนจากกองทหารเคียฟได้บางส่วนแล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครนยอมรับว่า มอสโกกำลังเริ่มการโจมตีตอบโต้
ยูเครนได้เปิดการบุกเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการที่ต่างชาติรุกล้ำข้ามชายแดนเข้าไปโจมตีรัสเซียครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยมีการใช้กำลังทหารจำนวนหลายพันคน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากฝูงโดรตจำนวนมากรวมทั้งพวกอาวุธหนัก ซึ่งก็รวมถึงอาวุธที่ได้รับมาจากฝ่ายตะวันตก
ขณะที่รัสเซียยืนกรานตั้งแต่ตอนต้นๆ ว่าจะขับไล่กองทหารยูเครนออกไปจากดินแดนของตน ทว่าจวบจนถึงเวลานี้ยังดูเหมือนกระทำไม่สำเร็จ และกลับต้องดำเนินการอพยพประชาชนราว 150,000 คนออกไปจากพื้นที่อันตราย รวมทั้งให้การช่วยเหลือแก่ผู้คนที่เดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในคำแถลงที่โพสต์ทางช่องเทเลแกรมของตนในวันพฤหัสบดี (12) ว่า “หลายๆ หน่วยของกองทหารกลุ่ม ‘ภาคเหนือ’ สามารถปลดแอกชุมชนต่างๆ ได้ 10 แห่งภายในเวลา 2 วัน
ขณะที่สำนักข่าวทาสส์ของทางการแดนหมีขาว ก็รายงานตั้งแต่วันพุธ (11) ว่า พลตรีอัพตี อะเลาดินอฟ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการสู้รบของกองทหารรบพิเศษอัคมัต ที่มาจากภูมิภาคเชชเนีย ในแคว้นคูร์สต์ ได้ออกมาแถลงว่า กองทหารรัสเซียได้เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรุกและยึดคืนอำนาจควบคุมชุมชนต่างๆ ในแคว้นคูร์สก์กลับมาได้ราว 10 แห่งแล้ว
“สถานการณ์เป็นผลดีสำหรับเรา” เป็นคำกล่าวของนายพลอะเลาดินอฟ ซึ่งยังตำแหน่งเป็นรองเจ้ากรมใหญ่ฝ่ายการเมือง ของกระทรวงกลาโหมรัสเซียอีกด้วย
ยูริ โปโดลยาคา บล็อกเกอร์ด้านการทหารที่เป็นชาวยูเครนโดยกำเนิดทว่าโปรรัสเซีย รวมทั้งบล็อกเกอร์ทรงอิทธิพลอีก 2 รายที่ใช้ชื่อว่า รีบาร์ และ เดอะ ทู เมเจอร์ส ต่างออกมาบอกเช่นกันว่า กองกำลังฝ่ายรัสเซียได้เริ่มการรุกโจมตีกลับอย่างมีนัยสำคัญในคูร์สก์แล้ว
“ในแคว้นคูร์สก์ กองทัพรัสเซียได้เปิดปฏิบัติการรุกโจมตีกลับที่บริเวณปีกตะวันตกของกองกำลังข้าศึกที่บุกเข้ามา และกำลังลดพื้นที่ควบคุมของฝ่ายยูเครนในบริเวณใกล้ๆ กับพรมแดนแห่งรัฐ” เดอะ ทู เมเจอร์ส บอก
โปโดลยาคา สำทับว่า กองกำลังรัสเซียเข้ายึดหมู่บ้านหลายแห่งบริเวณพื้นที่ส่วนแคบๆ ทางตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งยูเครนเฉือนเอาไปได้ก่อนหน้านี้ และกำลังผลักดันกองกำลังยูเครนให้ถอยไปทางตะวันออกของแม่น้ำมาลายา ล็อกนายา ทางใต้ของเมืองซนากอสต์
ทางด้าน เซเลนสกี้ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวในกรุงเคียฟยอมรับว่า “ฝ่ายรัสเซียได้เริ่มการปฏิบัติรุกตอบโต้แล้ว”
เขาไม่ได้ให้รายละเอียดขนาดขอบเขตการปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซีย แต่ยืนยันว่าการรุกล้ำของฝ่ายเคียฟยังคง “ดำเนินไปตามแนวทางในแผนการของฝ่ายยูเครนพวกเรา”
ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เคยแถลงว่ากองกำลังอาวุธของฝ่ายเขาได้เข้าควบคุมชุมชนราว 100 แห่งในแคว้นเคิร์สต์ คิดเป็นพื้นที่รวมแล้วมากกว่า 1,300 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่พวกแหล่งข่าวฝ่ายรัสเซียโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง
เคียฟบอกว่าไม่ได้ต้องการผนวกดินแดนของรัสเซียที่ยึดได้เหล่านี้ แต่หวังว่าจะสามารถบีบบังคับให้รัสเซียต้องถอนกำลังออกจากการกดดันโจมตีภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อกลับมาป้องกันตัวเอง รวมทั้งใช้เป็นหมากต่อรองอันทรงพลังในการเจรจาใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมา
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เดวิด แลมมี แถลงขณะเยือนกรุงเคียฟเมื่อวันพุธ (11) ว่า ได้หารือกับ เซเลนสกี้ เกี่ยวกับเป้าหมายของยูเครนในสงครามครั้งนี้ และสิ่งที่สหรัฐฯกับอังกฤษสามารถให้ความช่วยเหลือได้
บลิงเคนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มีการหารือเรื่องที่ยูเครนเรียกร้องให้ฝ่ายตะวันตกเปิดทางแก่เคียฟในการดำเนินการโจมตีระยะไกลลึกเข้าไปในแดนหมีขาว แต่เขาย้ำว่า ต้องนำเรื่องนี้กลับไปรายงานให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนรับทราบและพิจารณาก่อน
ทั้งนี้ เซเลนสกี้รบเร้าพันธมิตรมาเป็นแรมเดือนแล้วให้อนุญาตยูเครนใช้พวกอาวุธพิสัยทำการไกลๆ ของตะวันตก ซึ่งรวมถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง อะแทคซิมส์ (ATACMS) ของอเมริกา และ ขีปนาวุธยิงจากเครื่องบิน “สตอร์มชาโดว์” ของอังกฤษ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย เพื่อจำกัดความสามารถของมอสโกในการเปิดฉากโจมตียูเครน
ด้านแลมมีกล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับบลิงเคน และ อันดรี ซีบีฮา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ว่า ได้รับฟังประเด็นต่างๆ อย่างตั้งใจ ซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยูเครนต้องการเพื่อเอาชนะในสงครามกับรัสเซีย และสำทับว่า จะมีการหารือประเด็นเหล่านี้ต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์
ท่าทีเช่นนี้ของ บลิงเคน กับ แลมมี ดูจะตรงกันข้ามกับความหวังของยูเครนว่ที่า ตะวันตกจะละทิ้งความกังวลในเรื่องที่ว่า สถานการณ์อาจจะลุกลามบานปลายออกไป
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ บลิงเคนได้ประกาศให้การสนับสนุนยูเครนเพิ่มกว่า 700 ล้านดอลลาร์ และแลมมี เผยว่า อังกฤษจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติม 781 ล้านดอลลาร์
ทางด้านเซเลนสกี้โพสต์บนแพลตฟอร์มเทเลแกรมว่า มีการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯและอังกฤษอย่างยาวนานและในทุกประเด็น สิ่งสำคัญคือข้อคิดเห็นของยูเครนทั้งหมดได้รับการรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธพิสัยไกล การให้การสนับสนุนกองกำลังแนวหน้า และยุทธศาสตร์ทั่วไปเพื่อขับเคลื่อนสู่สันติภาพที่เป็นธรรม
นอกจากนั้น เซเลนสกี้ยังได้ไปกล่าวในงานประชุมไครเมียน แพลตฟอร์ม ในวันพุธ (11) ว่า “แผนการสู่ชัยชนะ” ที่เขาต้องการเสนอต่อไบเดนในเดือนนี้ จะทำให้เคียฟเข้มแข็งขึ้นและมีผลกระทบทางจิตวิทยาและการเมืองซึ่งจะบีบให้รัสเซียยอมยุติสงครามด้วยแนวทางการทูต
ผู้นำยูเครนสำทับว่า จำเป็นต้องเสนอแผนการดังกล่าวก่อนการประชุมสุดยอดสันติภาพระหว่างประเทศครั้งที่ 2 ที่เขาต้องการให้จัดขึ้นปลายปีนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป แสดงความกังวลว่า การยกเลิกข้อห้ามยูเครนใช้อาวุธตะวันตกโจมตีระยะไกลลึกเข้าไปในรัสเซีย จะทำให้ตะวันตกถูกดึงเข้าสู่การสู้รบขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็รับรู้ว่า ยูเครนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อพลิกสถานการณ์ในสงคราม
วียาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย โพสต์เตือนเอาไว้บนแพลตฟอร์มเทเลแกรม ในวันพุธว่า อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ กำลังจะกลายเป็นคู่สงครามของรัสเซียในยูเครน หากยินยอมให้เคียฟใช้อาวุธโจมตีลึกเข้ามาในแดนหมีขาว ซึ่งบีบให้มอสโกต้องตอบโต้ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงขึ้นเพื่อปกป้องพลเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น ในวันพฤหัสบดี (12) เซียร์เก คารากานอฟ นักรัฐศาสตร์สายเหยี่ยวชาวรัสเซียที่มีอิทธิพลด้านนโยบายการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์คอมเมอร์ซานต์ ในรัสเซีย ว่า มอสโกอาจจะต้องเข้าโจมตีชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในแบบที่ไม่นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ และสำทับว่า อเมริกาโกหกที่บอกว่า รับประกันการปกป้องพวกชาติพันธมิตรจากการโจมตีด้วยนิวเคลียร์
คารากานอฟเสริมว่า เป้าหมายสำคัญของหลักนิยมนิวเคลียร์ของรัสเซียควรเป็นการรับประกันว่า ศัตรูทั้งปัจจุบันและในอนาคตจะรับรู้อย่างชัดเจนว่า รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ เขายังบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะประกาศว่า รัสเซียมีสิทธิ์ตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือการยึดดินแดนของรัสเซีย
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของตะวันตกจับตาท่าทีของคารากานอฟอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวทางนโยบายการต่างประเทศ กลาโหม และนิวเคลียร์ของรัสเซีย
อนึ่ง แม้ความคิดเห็นของคารากานอฟไม่ได้สะท้อนนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่เครมลินมักให้โอกาสนักรัฐศาสตร์ผู้นี้แสดงความคิดเห็นในเวทีประชุมสำคัญๆ และเสนอต่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินโดยตรง
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)