xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมอาวุธให้พร้อม! ชี้อ่าวไทยส่อเป็นจุดเผชิญหน้าแห่งใหม่ กระพือสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชียเผยแพร่บทความหนึ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์แสดงความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามในอีกน่านน้ำหนึ่งในอินโด-แปซิฟิก นั่นคืออ่าวไทย แม้ปัจจุบันอ่าวไทยค่อนข้างสงบ แต่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากปักกิ่งได้ดำเนินโครงการอันเป็นที่ถกเถียงต่างๆ ที่อาจทำให้ภูมิภาคแถบนี้ลุกเป็นไฟ

บทความของ เดเรค กรอสส์แมน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและอินโด-แปซิฟิก ที่เขียนลงนิกเกอิ เอเชีย เท้าความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุน มาร์เนต แห่งกัมพูชา เป็นประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการคลองฟูนันเตโช เชื่อมกรุงพนมเปญ ที่ไม่มีทางออกทางทะเลไปยังอ่าวไทย

ถ้าโครงการก่อสร้างนี้ประสบความสำเร็จ คลองดังกล่าวจะลดระยะทางการขนส่งสินค้าผ่านเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านลง 70% และเพิ่มรายได้รัฐบาล 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับสนับสนุนเศรษฐกิจสังคมของกัมพูชา โดยในพิธี มาร์เนต กล่าวว่า "ผ่านการก่อสร้างคลองประวัติศษสตร์ เรากำลังแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกแห่งความรักชาติและความเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศ"

อย่างไรก็ตาม เดเรค กรอสส์แมน ชี้ว่าชัดเจนว่ากัมพูชาไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ จีนคือผู้ลงทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ในโครงการ และเตรียมได้ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ลำดับแรกเลยคือคลองแห่งนี้จะเปิดทางให้ปักกิ่งเข้าถึงอ่าวไทยโดยตรงจากจีน สืบเนื่องจากแม่น้ำแม่โขงมีต้นกำเนิดในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน

ปักกิ่งจะสามารถล่องเรือ ไม่ใช่แค่เรือสินค้า แต่ยังรวมไปถึงเรือรบ ผ่านพม่า ลาวและกัมพูชา จากนั้นผ่านคลองฟูนันเตโชที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว และเข้าสู่อ่าวไทย ในหลายเหตุผลที่เชื่อได้ว่าปักกิ่งจะพยายามล่องเรือของกองทัพผ่านคลองใหม่แห่งนี้ ในนั้นรวมถึงการมีโครงการเขื่อนต่างๆ ของจีนตามแม่น้ำโขง ที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมระดับน้ำขึ้นลงได้ เช่นเดียวกับความจำเป็นของการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของเรือกินน้ำลึก

ด้วยที่ไม่มีความท้าทายใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคในระยะยาว นั่นหมายความว่ากองกำลังทางทะเลของจีน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ ยามชายฝั่งหรือกองเรือประมง อาจใช้ประโยชน์จากเส้นทางเดินเรือที่ค้นพบใหม่ในการประจำการในภูมิภาค โดยมี 3 เป้าหมายหลักในความคิด

กรอสส์แมน ระบุว่า อย่างแรกเลยคือปักกิ่งอาจพยายามอย่างโต้งๆ ในการเข้าถึงช่องแคบมะละกา ซึ่งจีนเรียกว่า Malacca Dilemma ข้อสันนิษฐานที่อาจทำให้กองทัพสหรัฐฯ ปิดการเข้าออกช่องแคบอันสำคัญนี้ที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อกันปักกิ่งออกห่างจากการประจำการทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับก่อความขัดแย้งเกี่ยวกับไต้หวัน หรือในทะเลจีนใต้

การฉวยโอกาสจากโครงการนี้ ในประการที่ 2 ตามความเห็นของกรอสส์แมน คือมันทำให้กองทัพเรือจีนไม่จำเป็นต้องล่องผ่านทะเลจีนใต้และอ้อมอินโดจีน เพื่อเข้าถึงอ่าวไทย โดยไม่ใช่แค่เพียงรวดเร็วกว่า มันยังจำกัดโอกาสที่กองกำลังศัตรูจะท้าทายการประจำการของจีนอีกด้วย

และประการสุดท้าย คลองแห่งนี้จะปิดทางให้จีน สามารถประจำการทางปีกตะวันตกของเวียดนาม แทนที่จะอยู่แค่เพียงทางตะวันออก ในทะเลจีนใต้

กรอสส์แมน บอกว่าคลองแห่งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง มันจะช่วยลดคุณค่าของฐานทัพเรืออ่าวกัมรัญ ตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม เช่นเดียวกับหมู่เกาะเทียมของฮานอยที่เพิ่งสร้างเมื่อเร็วๆ นี้ในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ มันยังบีบให้เวียดนามต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรทางทหาร ในการจัดการกับความเป็นไปได้ของยุทธบริเวณใหม่ในทางตะวันตก

ความเกี่ยวข้องของจีนในโครงการคลองฟูนันเตโช และฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา คือ 2 ภาพประกอบหลักที่บ่งชี้ว่าบางทีอ่าวไทยอาจถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทของการแข่งขันทางอำนาจอย่างเข้มข้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตามยังมีโครงการอื่นๆ ที่เป็นต้นตอของสถานการณ์ความตึงเครียดเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นโครงการสนามบินนานาชาติดาราสาคร ที่เพิ่งสร้างเสร็จด้วยเงินทุนจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นตอของความกังวลเช่นกัน โดยท่าอากาศยานดาราสาคร ตั้งอยู่บนชายฝั่งของกัมพูชา และมีรันเวย์ที่ผิดธรรมดา ที่มีรัศมีวงเลี้ยวที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่เครื่องบินเกรดทหาร ไม่ใช่แค่กับอากาศยานพลเรือนทั่วไป อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ไม่พบเห็นสัญญาณว่าสนามบินแห่งนี้ถูกใช้งานด้านการทหารแต่อย่างใด

อีกหนึ่งโครงการที่ทำให้อ่าวไทยถูกจับตามอง คือคลองกระ โครงการขุดคลองเชื่อมต่ออ่าวเบงกอลกับอ่าวไทย ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากจีน แม้โครงการนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่หากเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ มันจะกลายตัวแทนของอีกหนึ่งเส้นทางที่ปักกิ่งสามารถทะลุออกไปถึงช่องแคบมะละกา

นอกเหนือจากการคาดการณ์ต่างๆ กรอสส์แมน ระบุว่าสิ่งที่รู้ในตอนนี้คือ จีนได้เคลื่อนไหวทางทหารอย่างกระตือรือร้นในอ่าวไทย และโครงการทั้งหลายในอนาคต อาจมอบโอกาสเพิ่มเติมให้ปักกิ่งเข้ามาพัวพันมากยิ่งขึ้น และมอบโอกาสอย่างแท้จริงในการช่วงชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เหนือสหรัฐฯ และบรรดาชาติเพื่อนบ้านของปักกิ่ง

ในอีกหลายปีหลังจากนั้น กรอสส์แมน มองว่า สหรัฐฯ อาจตอบโต้ด้วยการเคลื่อนไหวทางทหารในอ่าวไทยเช่นกัน แต่เขาเตือนว่ามันจะเป็นความผิดพลาด และแนะนำให้อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์อื่นแทน ในนั้นคือการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย ในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคง แต่รวมไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ในฐานะพันธมิตรใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งกับกัมพูชาแทน

กรอสส์แมน ชี้ว่าเป้าหมายของแนวทางดังกล่าว คือการกัดเซาะสถานะทางทหารที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในอ่าวไทย และหาทางรับประกันว่าโครงการทางพาณิชย์ต่างๆ เหล่านั้น อย่างเช่นคลองฟูนันเตโช และท่าอากาศยานนานาชาติดาราสาคร ท้ายที่สุดแล้วจะไม่ถูกนำไปใช้สนับสนุนเป้าหมายทางทหารของจีน

(ที่มา : นิกเกอิ เอเชีย)


กำลังโหลดความคิดเห็น