นโยบายก้าวร้าวของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ เบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซีย และการเดินหน้าพยายามยัดเยียดความพ่ายแพ้แก่มอสโกในยูเครน อาจก่อผลลัพธ์ "ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์" จากความเห็นของโรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ อดีตผู้สมัครอิสระชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอเมริกา
ความเห็นนี้มีขึ้นตามหลังศึกประชันวิสัยทัศน์ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากรีพับลิกัน และกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากเดโมแครต ซึ่งจัดขึ้นในฟิลาเดลเฟียเมื่อคืนวันอังคาร (10 ก.ย.)
ระหว่างการดีเบตในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งยูเครน ทรัมป์ เน้นว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย "มีบางอย่างที่คนอื่นไม่มี เขามีอาวุธนิวเคลียร์ แม้พวกเขาไม่เคยพูดเกี่ยวกับมัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว บางทีเขาอาจใช้มัน เขาไม่จำเป็นต้องข่มขู่ แต่เขามีมัน"
เคนเนดี เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ว่า "ทรัมป์พูดได้น่าสนใจ และผมหวังว่าทุกๆ คนจะได้ยิน รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์" เขาเตือน "นโยบายเผชิญหน้าขั้นสูงสุดของรัฐบาลไบเดน การหาทางมอบความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายแก่รัสเซียและเปลี่ยนระบอบการปกครอง มันคือสูตรสำหรับหายนะทางนิวเคลียร์"
ทั้งนี้ เคนเนดี ระงับการรณรงค์หาเสียงเมื่อเดือนที่แล้ว และหันไปรับรองทรัมป์ ขณะที่ข้อความที่เขาปักหมุดไว้บนเพจแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (10 ก.ย.) ระบุว่า "ขีดเส้นใต้ไว้ : ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในรัฐไหน ลงคะแนนเลือกทรัมป์ ชัยชนะของทรัมป์ คือชัยชนะของเคนเนดี"
ระหว่างการประชันวิสัยทัศน์ ทรัมป์เน้นย้ำว่าเขาจะคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง หากได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในเดือนพฤศจิกายน แม้กระทั่งก่อนหน้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง "มันเป็นประโยชน์สูงสุดของสหรัฐฯ ในการทำให้สงครามนี้ยุติลงและทำให้มันถึงจุดจบ เราจำเป็นต้องเจรจาข้อตกลงหนึ่งๆ เพราะว่าเราจำเป็นต้องหยุดการทำลายล้างชีวิตมนุษย์"
ทรัมป์ กล่าวว่า "ความขัดแย้งระหว่างมอสโกและเคียฟ เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพราะไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ไม่รู้ว่าต้องพูดคุยอย่างไรกับปูติน และมันรังแต่จะเลวร้ายลง และอาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3"
เมื่อเดือนมิถุนายน ปูตินแถลงว่ารัสเซียจะปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัย เนื่องจากมันเป็นเครื่องรับประกันหลักต่อความมั่นคงแห่งชาติ เขาเตือนว่าประเทศแห่งนี้จะใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อปกป้องตนเอง หากว่าความอยู่รอดของรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าความขัดแย้งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามนิวเคลียร์ จะก่อผลลัพธ์เลวร้ายต่อมนุษยชาติ พร้อมระบุว่ามอสโกไม่ได้กวัดแกว่งสำแดงคลังแสง และได้แต่หวังว่า "จะไม่มีวันที่ต้องยิงนิวเคลียร์ตอบโต้กันไปมาจริงๆ"
ความคิดเห็นของ เคนเนดี มีแนวโน้มเป็นจริงมากขึ้น หลังจากในวันพุธ (11 ก.ย.) ไบเดนเผย คณะบริหารของเขากำลังดำเนินการเพื่อยกเลิกข้อห้ามยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลในการทำสงครามกับรัสเซีย กระตุ้นให้มอสโกออกมาเตือนว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ตะวันตกกลายเป็นคู่สงคราม และรัสเซียจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงขึ้น
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)