xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มมหาสงคราม?? ไบเดนยันเตรียมไฟเขียวเคียฟใช้อาวุธพิสัยไกล โจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย ด้านมอสโกโวเจอตอบโต้แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ (ซ้าย)  และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (ขวา) เดินทางด้วยรถไฟจากโปแลนด์ไปถึงกรุงเคียฟ, ยูเครน เมื่อวันพุธ (11 ก.ย.) ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังแบะท่าจะไฟเขียวให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธยุทธวิธีพิสัยไกลที่สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกจัดส่งไปให้ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
ไบเดนเผย คณะบริหารของเขากำลังดำเนินการเพื่อยกเลิกข้อห้ามยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลในการทำสงครามกับรัสเซีย ด้านมอสโกเตือนการกระทำดังกล่าวจะทำให้ตะวันตกกลายเป็นคู่สงคราม และรัสเซียจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันอิหร่านประกาศจะเอาคืนอย่างสาสม จากการที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีใช้มาตรการแซงก์ชันใหม่กับเตหะราน ด้วยข้อหาส่งขีปนาวุธให้แดนหมีขาวใช้ทำศึกยูเครน

ช่วงที่ผ่านมา อเมริกาและพันธมิตรชาติตะวันตก แสดงความลังเลที่จะจัดหาอาวุธซึ่งมีพิสัยไกลถล่มลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย หรือถ้าส่งอาวุธซึ่งมีสมรรถนะดังกล่าวให้ ก็มีข้อห้ามไม่ให้เคียฟใช้โจมตีเกินกว่าพื้นที่ชายแดนหมีขาว เนื่องจากกังวลว่า รัสเซียจะตอบโต้กลับ และทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย

ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว รอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า อเมริกาใกล้บรรลุข้อตกลงจัดหาอาวุธพิสัยไกลให้เคียฟ กระนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการจัดการปัญหาด้านเทคนิคก่อนที่จะส่งมอบได้

ปรากฏว่าเมื่อวันอังคาร (10 ก.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยกล่าวยืนยันว่า คณะบริหารของเขากำลังดำเนินการเพื่อยกเลิกการห้ามยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลในการทำสงครามกับรัสเซีย

นอกจากนั้น ในวันพุธ (11) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ได้เดินทางด้วยรถไฟจากโปแลนด์ไปกรุงเคียฟ โดยที่ทั้งคู่จะหารือกันเพิ่มเติมกับฝ่ายยูเครน เกี่ยวกับกฎการใช้อาวุธของตะวันตกในดินแดนรัสเซีย

ระหว่างที่ยังอยู่ในกรุงลอนดอนเมื่อวันอังคาร บลิงเคน ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวขณะยืนเคียงข้าง แลมมี โดยกล่าวว่า สหรัฐฯมีพันธะที่จะต้องจัดหา “สิ่งที่พวกเขา (ยูเครน) จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้บังเกิดประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับการก้าวร้าวรุกรานของฝ่ายรัสเซีย”

กระนั้น บลิงเคนก็บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่จะต้องดูว่ากองกำลังยูเครนสามารถบำรุงรักษาและใช้อาวุธชนิดต่างๆ ที่จัดส่งไปให้ได้หรือไม่

ในเวลาต่อมา ขณะให้สัมภาษณ์โทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษ และถูกถามอย่างเจาะจงว่า สหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้เคียฟใช้อาวุธพิสัยไกลแล้วใช่หรือไม่ บลิงเคนตอบว่า “เราไม่เคยบอกปัดเรื่องนี้ แต่เมื่อเรานำเอาเรื่องนี้มาพิจารณา เราก็ต้องการให้แน่ใจว่ามันจะกระทำกันในหนทางที่สามารถสร้างความคืบหน้าให้แก่สิ่งที่ฝ่ายยูเครนกำลังพยายามบรรลุผล”

สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายมอสโก วียาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย โพสต์บนแพลตฟอร์มเทเลแกรม ในวันพุธว่า อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ กำลังจะกลายเป็นคู่สงครามในยูเครน ซึ่งบีบให้รัสเซียต้องตอบโต้ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงขึ้นเพื่อปกป้องพลเมือง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยเตือนเอาไว้ว่า อาจใช้ขีปนาวุธตามแบบแผน นั่นคือไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งมีระยะโจมตีไกลถึงอเมริกาและพวกชาติพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯ หากประเทศเหล่านั้นอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของตะวันตกโจมตีดินแดนชั้นในของรัสเซีย

กระนั้น ขณะที่โฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ แถลงข่าวประจำวันในวันพุธ (11) เขาดูมีท่าทีระมัดระวังในเวลาพูดถึงการตอบโต้ของรัสเซีย โดยบอกว่า หากสหรัฐฯและตะวันตกตัดสินใจยอมให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีลึกเข้าไปในแดนหมีขาวจริง มอสโกก็จะตอบโต้ “อย่างเหมาะสม” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องคาดหมายถึงการตอบโต้บางอย่างบางชนิดไม่ว่าที่ไหน”

“สำหรับการปฏิบัติการทั้งหมดเหล่านี้ ‘การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ก็คือการตอบโต้” เปสคอฟบอก โดยใช้วลีซึ่งหมายถึงการที่รัสเซียบุกเข้าไปในยูเครน

“การตัดสินใจเหล่านี้แต่ละอัน ซึ่งกระทำโดยฝ่ายตะวันตกโดยรวม แล้วจากนั้นก็แจกจ่ายให้ยูเครนกระทำนั้น คือเครื่องยืนยันเพิ่มเติมถึงความชอบธรรม, ความจำเป็น, และการไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ของการปฏิบัติการพิเศษทางทหาร”

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อคืนวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านแถลงจะตอบโต้อย่างสาสมต่อมาตรการแซงก์ชันใหม่ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งเตหะรานถือเป็นนโยบายอันเป็นปฏิปักษ์และการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งกระทำต่อประชาชนอิหร่าน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นในวันอังคาร รัฐบาล 3 ประเทศยุโรปดังกล่าว ประกาศยกเลิกข้อตกลงด้านการบินกับอิหร่าน และกำลังดำเนินการเพื่อแซงก์ชันสายการบินอิหร่าน แอร์ รวมทั้งนิติบุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการขีปนาวุธทิ้งตัวของเตหะราน ตลอดจนเกี่ยวข้องกับการส่งมอบอาวุธเหล่านั้นและอาวุธอื่นๆ ให้รัสเซีย

นัสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านยังยืนยันอีกครั้งว่า ข้อกล่าวหาเรื่องอิหร่านขายขีปนาวุธให้รัสเซีย เป็นการปล่อยข่าวเท็จและโฆษณาชวนเชื่อสุดอัปลักษณ์ ที่ต้องการอำพรางปกปิดการที่อเมริกาและตะวันตกบางชาติให้ความสนับสนุนด้านอาวุธในระดับที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงแก่อิสราเอล เพื่อนำไปใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา

สำหรับสถานการณ์การสู้รบในยูเครน เมื่อวันอังคาร เซียร์เก ชอยกู เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย กล่าวถึงกรณีที่ทหารยูเครนบุกเข้าสู่แคว้นคูร์สก์ของรัสเซียตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. ว่า มีเป้าหมายในการยกระดับฐานะในการเจรจาต่อรองของยูเครนเอง รวมทั้งมุ่งกดดันให้รัสเซียถอนกำลังจากภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน กลับไปปกป้องแดนหมีขาว

แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ชอยกูระบุว่า กองกำลังรัสเซียกลับบุกโจมตีดอนบาสได้สะดวกยิ่งขึ้น จนในช่วงเดือนสิงหาคมและ 8 วันแรกของเดือนนี้ สามารถยึดดินแดนได้เกือบ 1,000 ตารางกิโลเมตร

วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศว่า สามารถยึดหมู่บ้านในภาคตะวันออกของยูเครนเพิ่มอีก 4 แห่ง

ชอยกูยังประกาศผ่านสถานีทีวีของรัฐบาลว่า จะไม่มีการเจรจากับเคียฟอย่างเด็ดขาด หากกองกำลังยูเครนยังอยู่ในดินแดนรัสเซีย และย้ำว่า นี่คือจุดยืนของปูติน

ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบ แต่ยกย่องทหารยูเครนที่ปกป้องที่มั่นในสองแนวรบที่ยากลำบากที่สุดในภาคตะวันออกคือ เมืองโปครอฟสก์ และ กูราคอฟ

เซเลนสกี้ยังระบุว่า ปฏิบัติการในคูร์สก์บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญหลายอย่างที่รวมถึงการป้องกันไม่ให้กองกำลังรัสเซียใช้เมืองดังกล่าวเป็นฐานบุกข้ามแดนเข้าสู่ยูเครน

(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น