xs
xsm
sm
md
lg

รับไม่ไหวแล้ว! บังกลาเทศจี้ส่งผู้ลี้ภัย 'โรฮิงญา' ตั้งถิ่นฐานใหม่ใน 'ประเทศที่สาม'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้นำรัฐบาลชั่วคราวบังกลาเทศ ออกมาเรียกร้องวานนี้ (8 ก.ย.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หลังบังกลาเทศเริ่มต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพระลอกใหม่ที่หนีความรุนแรงมาจากรัฐยะไข่ในพม่า

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาราว 8,000 คนหนีข้ามพรมแดนมายังบังกลาเทศ สืบเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ซึ่งเป็นองค์กรชาติพันธุ์ติดอาวุธชาวพุทธในยะไข่

กลุ่มคนที่มาใหม่นี้ยิ่งเพิ่มความแออัดให้แก่ค่ายผู้ลี้ภัยในเขตค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาที่หลบหนีปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพพม่าเข้ามาอาศัยอยู่แล้วมากกว่า 1 ล้านคนตั้งแต่ปี 2017

ชาวโรฮิงญาเหล่านี้แทบไม่มีหวังที่จะได้กลับไปยังบ้านเกิดในพม่า ที่ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่าง

ดร.ยูนุส ได้เอ่ยข้อเรียกร้องเรื่องการจัดหาถิ่นฐานใหม่ให้แก่ชาวโรฮิงญาระหว่างที่ประชุมร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยเขาระบุว่า "กระบวนการตั้งถิ่นฐานใหม่ควรที่จะง่าย สม่ำเสมอ และราบรื่น"

อับดุซัตตอร์ อีซอเอฟ หัวหน้าคณะผู้แทน IOM ประจำบังกลาเทศ แถลงว่า การส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญาไปยังประเทศที่สามเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้งตั้งแต่ปี 2022 หลังจากที่หยุดชะงักไป 12 ปี แต่เพิ่งจะเริ่มมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้

รัฐบาลวอชิงตันได้ย้ำคำมั่นสัญญาที่จะรับชาวโรฮิงญาหลายพันคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ทว่ากระบวนการนี้ก็ยังคงล่าช้าอยู่

สำหรับการสู้รบที่รุนแรงขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ หลังเคยถูกกองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการกวาดล้างอย่างหนักในช่วงปี 2017 จนถึงขั้นที่องค์การสหประชาชาติออกมาชี้ว่าสะท้อนเจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

โมฮัมหมัด เตาฮีด ฮอสเซน รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ บอกกับรอยเตอร์เมื่อเดือน ส.ค. ว่า ประเทศของเขารับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเพิ่มอีกไม่ไหวแล้ว และขอให้อินเดียรวมถึงประเทศอื่นๆ ช่วยเปิดพรมแดนรับชาวโรฮิงญาที่หนีตายจากความรุนแรงเหล่านี้เข้าไปดูแลบ้าง

ฮอสเซน ยังเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกดดันกองทัพอาระกันให้ยุติการโจมตีชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น