xs
xsm
sm
md
lg

หรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทั่วโลกใกล้พลิกตัวครั้งมโหฬาร? เมื่อค่าเงินหยวนจะแข็งแกร่งขึ้นขณะดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไนเจล กรีน


เงินหยวนอาจจะอยู่ในช่วงใกล้แข็งค่าขึ้นอย่างใหญ่โต เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Tectonic shift coming on global currency markets?
by Nigel Green
28/08/2024

สกุลเงินตราของจีนอาจแข็งค่าพุ่งลิ่ว ถ้าหากพวกบริษัทจีนผันเงินลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่ถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์อยู่ของพวกเขา ไปถือครองสินทรัพย์สกุลหยวนแทนที่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯกำลังเข้าสู่โหมดลดอัตราดอกเบี้ย

พลวัตทางการเงินระดับโลก อาจจะใกล้เกิดการเคลื่อนตัวพลิกผันครั้งใหญ่อย่างเงียบๆ ทว่าลึกซึ้ง เป็นการเคลื่อนตัวที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเงินหยวนจีนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความสำคัญมาก

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ แกนกลางของมันเลย ได้แก่การที่พวกบริษัทกิจการของจีนมีความเป็นไปได้ที่จะไถ่ถอนหรือขายทิ้งสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ที่พวกเขาถือครองอยู่ออกไปเป็นจำนวนใหญ่โต โดยที่ฉากทัศน์ดังกล่าวน่าที่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯถูกหั่นให้ต่ำลงมาในระยะไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจเป็นชนวนทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่างๆ อย่างกว้างไกลทั้งสำหรับเงินหยวน, เงินดอลลาร์, และตลาดเงินตราของทั่วโลกโดยรวม

ตามตัวเลขที่มีการประมาณการกันบ่งชี้ว่า พวกบริษัทจีนมีการลงทุนในต่างแดนเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ จำนวนมากทีเดียวอยู่ในรูปของการถือครองพวกสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

ตั้งแต่ตอนที่โรคระบาดใหญ่ โควิด 19 เริ่มต้นขึ้นมา พวกกิจการของจีนก็พากันเสาะแสวงหาสถานที่ในต่างประเทศซึ่งพวกเขาจะสามารถได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้น มองหาผลตอบแทนที่ดีขึ้นมากๆ จากพวกสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ เมื่อเทียบกับทางเลือกในการถือครองพวกสินทรัพย์สกุลเงินหยวนภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มนี้อาจจะเกิดการพลิกผันเป็นตรงกันข้ามในเร็วๆ นี้ เป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังจะเข้าสู่โหมดตัดลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นการรับมือกับการผ่อนเพลาลงแล้วของความท้าทายทางด้านเงินเฟ้อและทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมในสหรัฐฯลดต่ำลงเช่นนี้ เสน่ห์ดึงดูดใจของการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์จึงน่าจะถดถอยลงเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเร่งรัดให้พวกกิจการจีนพลิกผันนำเอาเงินลงทุนของพวกเขากลับคืนบ้านเกิด

เงินทุนที่อาจจะไหลกลับไปแดนมังกรนี้จะมีปริมาณขนาดไหนนั้น มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ แต่ก็ประมาณการกันอยู่ในช่วงระหว่าง 400,000 ล้านดอลลาร์ จนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

แม้กระทั่งระดับต่ำสุดของช่วงประมาณการนี้ ผลกระทบที่จะมีต่อเงินหยวนก็ยังน่าที่จะมีความหมายใหญ่โตทีเดียวอยู่นั่นเอง โดยที่นักวิเคราะห์บางรายกำลังทำนายกันว่า สกุลเงินนี้อาจจะแข็งค่าขึ้นไปได้ถึง 10% ทีเดียวเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

กลไกเบื้องหลังจากพลิกผันเปลี่ยนแปลงคราวนี้

อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและของจีนที่กำลังมีความแตกต่างกันลดน้อยลง มีความเป็นไปได้ว่านี่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดกระแสการไหลของเงินทุนคราวนี้ ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ พวกกิจการจีนได้สร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุนนอกประเทศก้อนใหญ่โตทีเดียว โดยเป็นการลงทุนในทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่พันธบัตรคลังสหรัฐฯ ไปจนถึงหุ้นกู้ภาคบริษัท และอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ เฟด เวลานี้กำลังส่งสัญญาณว่าจะเปลี่ยนแปลงทิศทางแล้ว การกะเก็งคาดคำนวณจึงกำลังเกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลง

ในทางตรงกันข้าม เงื่อนไขต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของจีนยังคงค่อนข้างมั่นคงโดยเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่าแดนมังกรก็มีปัญหาความท้าทายของพวกเขาเองก็ตามที และการลงทุนภายในประเทศอาจจะเริ่มดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากกว่าขณะที่อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากสินทรัพย์ดอลลาร์สหรัฐฯลดต่ำลง

ตรงนี้เองที่การไหลกลับประเทศของเงินทุนจะแสดงบทบาทของมัน ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลดลง และค่าเงินดอลลาร์สูญเสียความเข้มแข็งลงมาในบางระดับ พวกบริษัทจีนก็อาจเลือกที่จะนำเอาเงินทองของพวกเขาคืนกลับบ้าน ด้วยการแปลงดอลลาร์ที่พวกเขาถือครองอยู่ให้เป็นสกุลหยวน เรื่องนี้จะสร้างแรงกดดันขาขึ้นต่อมูลค่าของหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเงินทุนที่ไหลกลับเข้ามานั้นมีขนาดใหญ่

เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นนี้ อาจกลายเป็นสัญญาณทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจเกิดการสร้างสมดุลกันใหม่ในระดับใหญ่โตกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และการที่เศรษฐกิจจีนกำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกทีบนเวทีระดับโลก

ขณะที่ฉากทัศน์เช่นนี้เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นมาได้ ทว่ามันยังคงห่างไกลจากความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นมาแน่ๆ ทั้งนี้มีปัจจัยหลายๆ ประการที่อาจส่งอิทธิพลต่อขนาดขอบเขตและจังหวะเวลาของเงินทุนไหลกลับซึ่งอาจเกิดขึ้นมา และเมื่อมองให้ขยายออกไป ก็คือต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนด้วย

ปัจจัยอันดับแรกสุดเลยก็คือ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China หรือ PBOC ธนาคารกลางของแดนมังกร) อาจจะไม่นั่งนิ่งอยู่เฉยปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นโดยไม่ขยับทำอะไร รัฐบาลจีนนั้นมีประวัติมาอย่างยาวนานในเรื่องการเฝ้าบริหารจัดการกับสกุลเงินของตนอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมเข้าแทรกแซงเมื่อมีความจำเป็นในการธำรงรักษาเสถียรภาพ

หากพวกกิจการจีนเกิดนำเอาเงินลงทุนกลับบ้านเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ –หรือกระทั่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว มันก็อาจจุดชนวนให้เกิดกระแสนำเงินทุนกลับบ้านในตลาดโลกขึ้นมาได้ทีเดียว

การที่เงินดอลลาร์มีฐานะครอบงำเหนือสกุลเงินอื่นๆ ในเรื่องการเป็นสกุลเงินเพื่อการเป็นทุนสำรองลำดับแรกสุดของโลกมาอย่างยาวนานนั้น ได้รับการลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงจากความต้องการที่แข็งแกร่งในสินทรัพย์สหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อความต้องการนี้เกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ มันก็อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของดอลลาร์ และมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน

แล้วเรื่องนี้มันจะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องระหว่างสหรัฐฯ-จีนเท่านั้น เงินหยวนที่แข็งค่ายิ่งขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อสกุลเงินอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ซึ่งแข่งขันกับจีนในฐานะการเป็นตลาดส่งออก

ถ้าเงินหยวนเพิ่มค่าขึ้นอย่างสำคัญ มันก็อาจจะทำให้พวกระบบเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ ซึ่งสกุลเงินของพวกเขายังคงอ่อนค่ากว่าโดยเปรียบเทียบ เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันขึ้นมา และเรื่องนี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นปัจจัยปรับเปลี่ยนโฉมพลวัตทางการค้าในภูมิภาคนี้ได้ทีเดียว

เวลาเดียวกัน ถึงแม้ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่เยอะ แต่ศักยภาพของการที่หยวนจะแข็งค่าขึ้นและดอลลาร์อ่อนค่าลง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้จริงๆ และมันอาจจะเป็นตัวปรับเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของทั่วโลกไปในทิศทางใหม่ๆ อย่างใหญ่โตได้ทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น