เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สถานทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์วันอังคาร (27 ส.ค.) ร่อนแถลงการณ์ยืนยัน "เขื่อนจิ่งหง" ไม่ได้ปล่อยน้ำลงมาทำภาคเหนือไทยท่วมมโหฬารเหมือนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมากล่าวหา แต่บีบีซีภาคภาษาไทยรายงาน เขื่อนจีนระบายน้ำเพิ่มซ้ำเติมวิกฤตพร้อมตัวเลขข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ ช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. เพิ่มเป็น 8,220-8,830 ลบ.ม./ วินาที สูงกว่าปริมาณน้ำสัปดาห์ก่อนหน้า
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ของฮ่องกงรายงานวานนี้ (28 ส.ค.) ว่า ฝนมรสุมครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างทางภาคเหนือทำน้ำท่วมมโหฬาร ตัวเลขการเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 9 คน กระทบกว่า 51,700 ครัวเรือนอ้างอิงจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตอีกไม่ต่ำกว่า 13 คนในเหตุดินถล่มที่ จ.ภูเก็ต
สถานทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์โต้วันอังคาร (27) ข้อกล่าวหาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงบนแม่น้ำโขงไม่ได้ปล่อยน้ำเพิ่มสัปดาห์ที่แล้วระหว่างไทยกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่
ทั้งนี้ “เขื่อนจิ่งหง” (Jinghong dam) เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด โดยตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสนไปทางทิศเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร และมีอิทธิพลต่อระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย
โดยในแถลงการณ์สถานทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวว่า อัตราปริมาณน้ำที่ระบาย (outflow) โดยเฉลี่ยแต่ละวันในสัปดาห์ที่แล้วระหว่างวันจันทร์ที่ 18 ส.ค.ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. จากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำลดลงไป 60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเดือนสิงหาคมปี 2023 และไม่มีน้ำท่วม (floodwaters) ถูกปล่อยออกมาในช่วงนั้น
แต่ขัดแย้งในสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อ้างอิงจากสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษรายงานว่า ระหว่างการเยือนและพบกับบรรดาเหยื่อน้ำท่วมที่ จ.เชียงราย
มีรายงานว่าทักษิณ ได้เคยกล่าวว่า มวลน้ำสูงผิดปกติในแม่น้ำโขงเป็นผลมาจากจีนปล่อยน้ำมหาศาลลงมาส่งผลทำให้เกิดการท่วม
ซึ่งแถลงการณ์ของสถานทูตจีนที่ออกมานี้ ‘ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า’ ตั้งใจออกมาเพื่อตอบโต้คำพูดอดีตนายกฯ ทักษิณหรือไม่
แต่ทว่าเมื่อพิจารณาดูจากแถลงการณ์ของสถานทูตจีนที่อ้างว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการระบายน้ำใด และอีกทั้งปริมาณการไหลออกเฉลี่ยต่อวันลดลง 60% นั้น “ขัดแย้ง” กับข้อมูลของฝ่ายไทยในช่วงเวลาเดียวกัน
อ้างอิงจากการรายงานของบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อวันอังคาร (27) พบว่า ปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงของจีน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 อยู่ที่ 1,320 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 2,070 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 23 ส.ค. และสูงสุดในรอบสัปดาห์เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ด้วยปริมาณน้ำ 2,460 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ อ.เชียงแสน ช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. เพิ่มเป็น 8,220-8,830 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าปริมาณน้ำสัปดาห์ก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5,000 ลบ.ม./วินาที
และในการตรวจวัดในวันนี้ (27 ส.ค.) ที่สถานีเชียงแสน เมื่อเวลา 07.00 น. อยู่ที่ 7,830 ลบ.ม./วินาที เป็นข้อมูลที่ออกมาจากอุทกวิทยาแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บีบีซีภาคภาษาไทยชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยด้านลุ่มแม่น้ำโขงวิเคราะห์ว่า “ไทย” เสียเปรียบชัดเจนในวิกฤตนี้เพราะ “ฝ่ายจีนถือไพ่เหนือกว่าทางภูมิรัฐศาสตร์” และกลไกสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง MRC ไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถต่อรองปักกิ่งให้ชะลอการปล่อยน้ำลงมา
สื่ออังกฤษยังชี้ว่า นอกจากนี้ฝ่ายไทยอาจมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ที่ไปลงทุนถึงไม่กล้าระบุในกรณีของเขื่อนกั้นแม่น้ำสายประธาน หรือเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ใต้เขื่อนจีนและเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาในประเทศลาว ในการแจ้งต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง MRC
ทั้งนี้ เขื่อนจิ่งหงของจีนเคยมีปัญหาต่อระดับแม่น้ำโขงก่อนหน้าเพราะหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษเคยรายงานเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ปี 2015 ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงทางน้ำจีนเปิดเผยว่า จีนจะเร่งการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนจิ่งหงหลังมีเรือไม่ต่ำกว่า 70 ลำเกยตื้นในแม่น้ำโขง
ซึ่งตามการรายงานบีบีซีภาคภาษาไทยพบว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ดำเนินการโดยบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจาก สปป.ลาว ในการออกแบบพัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นระยะเวลา 31 ปี
บริษัทดังกล่าวมีบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด ของกลุ่ม ช.การช่าง ถือหุ้น 42.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี จำกัด 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้า-ลาว มหาชน 20% และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า 12.50% โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยโดยผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95% และขายให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวอีก 5%
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ตามแถลงการณ์ของสถานทูตจีนวันอังคาร (27) ยังเสริมว่า ปักกิ่งมีความวิตกอย่างสูงเกี่ยวกับน้ำท่วมในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
สถานทูตจีนอ้างว่าในการตรวจสอบเบื้องต้นมีการยืนยันว่าระดับน้ำในแม่น้ำล้านช้าง (Lancang river) อยู่ในสถานะคงที่และอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องของแม่น้ำล้านช้างในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำ
สำหรับแม่น้ำล้านช้างนี้อิงจากเว็บไซต์ทางการของ gistda พบว่าแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่ประเทศพม่า ประเทศลาว และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า สถานทูตจีนกล่าวในแถลงการณ์วันอังคาร (27) ว่า “6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน”
และ “ฝ่ายจีนเคารพอย่างเต็มที่และพิจารณาผลประโยชน์และความกังวลของกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำ”
สถานทูตจีนกล่าวทิ้งท้ายที่รวมไปถึงปัญหาวิกฤตน้ำท่วมโดยอ้างว่า
“จีนยินดีที่เพิ่มการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือในทรัพยากรน้ำ ปรับปรุงการบริหารลุ่มแม่น้ำอย่างครอบคลุม และร่วมตอบโต้ต่อความท้างทายต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นต้น” อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ฮ่องกง