ทางการฝรั่งเศสประกาศตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการกับ พาเวล ดูรอฟ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทเลแกรม (Telegram) จากกรณีการละเมิดกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชัน โดยอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) และอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
ดูรอฟ วัย 39 ปี ถูกจับที่สนามบินเลอบูเกต์ชานกรุงปารีสเมื่อวันเสาร์ (24 ส.ค.) และถูกควบคุมตัวไปสอบสวนนานหลายวัน ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (28) ผู้พิพากษาฝรั่งเศสได้ประกาศเริ่มสอบสวนซีอีโอผู้นี้อย่างเป็นทางการในความผิดฐานไม่พยายามปิดกั้นคอนเทนต์ของกลุ่มหัวรุนแรง และคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมายบนเทเลแกรม
เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวภายใต้วงเงินประกัน 5 ล้านยูโร และจะต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงห้ามเดินทางออกนอกฝรั่งเศส ตามคำแถลงของ ลอเร เบคคูโอ อัยการกรุงปารีส
ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ ดูรอฟ เผชิญนั้นเป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม ซึ่งรวมถึง “การสมคบคิดภายในฝ่ายบริหารของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย”
ดูรอฟ ยังถูกตั้งข้อหาไม่ยอมส่งมอบเอกสารตามที่หน่วยงานของรัฐเรียกร้อง รวมถึงข้อหา “แพร่กระจายในกลุ่มซึ่งภาพลามกอนาจารของผู้เยาว์” ตลอดข้อหาค้ายาเสพติด ฉ้อโกง และฟอกเงิน
เดวิด-โอลิวิเยร์ คามินสกี ทนายความของดูรอฟ ระบุว่า การกล่าวหาว่า ดูรอฟ เข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนแอปเป็นอะไรที่ “ไร้สาระ” มาก และย้ำว่าที่ผ่านมาเทเลแกรม “ปฏิบัติตามข้อกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของยุโรปในทุกๆ แง่มุม”
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระบุว่า ดูรอฟ ยังถูกสอบสวนฐานต้องสงสัย “ใช้ความรุนแรง” ต่อบุตรคนหนึ่ง ในระหว่างที่เขาและอดีตภรรยาซึ่งเป็นแม่เด็กอาศัยอยู่ในกรุงปารีส ซึ่งหญิงคนนี้ได้เคยยื่นฟ้องเอาผิด ดูรอฟ ต่อศาลสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้ว
ดูรอฟ เป็นพลเมืองของทั้งรัสเซีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เทเลแกรม และปัจจุบันแอปนี้มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 900 ล้านคน
นิตยสารฟอร์บสประเมินทรัพย์สินของ ดูรอฟ ในปัจจุบันว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับช่วงเวลาและบริบทต่างๆ ในการที่ฝรั่งเศสจับกุมและควบคุมตัว ดูรอฟ โดยกลุ่มที่สนับสนุนผู้ก่อตั้งเทเลแกรมมองว่า ดูรอฟ เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่ผู้ต่อต้านมองว่าเขาเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากจงใจปล่อยให้เทเลแกรมเป็นช่องทางสื่อสารที่ปราศจากการควบคุม
หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ รายงานเมื่อวันพุธ (28) ว่า ดูรอฟ เคยมีโอกาสเข้าพบประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง หลายครั้ง ก่อนที่จะได้รับสัญชาติฝรั่งเศสในปี 2021 ผ่านช่องทางพิเศษสำหรับบุคคลที่กระทำความดีความชอบต่อฝรั่งเศส
ด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า ระหว่างที่รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันในปี 2018 มาครง และทีมงานซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ใช้เทเลแกรมตัวยง ได้เสนอให้ ดูรอฟ มาตั้งสำงานใหญ่เทเลแกรมที่กรุงปารีส ทว่า ดูรอฟ ปฏิเสธ
แหล่งข่าวใกล้ชิดกระบวนการสอบสวนคนหนึ่งออกมายืนยันข้อมูลที่ตีแผ่ผ่านเว็บไซต์ Politico ซึ่งระบุว่า ทั้ง พาเวล ดูรอฟ และ นิโคไล ดูรอฟ พี่ชายของเขาซึ่งถือเป็น “มันสมอง” หลักของเทเลแกรม เริ่มถูกทางการฝรั่งเศสหมายหัวตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีนี้
ประธานาธิบดี มาครง ได้โพสต์ X ปฏิเสธสิ่งที่เขาเรียกว่า “ข้อมูลที่ผิดๆ” เกี่ยวกับคดีนี้ โดยยืนยันว่าการจับกุม ดูรอฟ “ไม่มีเหตุจูงใจทางการเมืองแอบแฝง” และทุกอย่าง “ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของผู้พิพากษา”
ที่มา : เอเอฟพี