xs
xsm
sm
md
lg

หนทางที่ดีที่สุด!? กลุ่มนักวิจัยจีนเชื่ออาวุธนิวเคลียร์อาจช่วยปกป้องโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดานักวิทยาศาสตร์จากโครงการสำรวจอวกาศลึกของจีนให้ความเห็ยนว่า บางทีอาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อย

เอกสารที่เผยแพร่ในวารสารจีน SCIENTIA SINICA Technologica ในเดือนนี้ ระบุว่า คณะทำงานวิจัยส่งเสียงเตือนดังกล่าว แม้เมื่อเร็วๆ นี้โลกมีพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีตรวจจับวัตถุเฉียดใกล้โลก แต่ด้วยที่มันไม่สามารถกะเก็งได้อย่างแม่นยำว่าเมื่อไหร่มันจะเกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับสกัดซากอวกาศ

ในการศึกษาของพวกเขา พวกนักวิจัยวิเคราะห์วิธีการป้องกันตนเองต่างๆ และความเป็นไปได้ของวิธีการเหล่านั้นในการปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาด ความหนาแน่นและระยะเวลาสัญญาณเตือนต่างกันออกไป ผลการศึกษาของพวกเขาบ่งชี้ว่าในกรณีที่มีการตรวจพบอย่างฉุกละหุกในเวลาอันสั้น ยกตัวอย่างก่อนหน้าการตกกระทบราว 1 สัปดาห์ หัวรบนิวเคลียร์จะเป็นเพียงศักยภาพเดียวที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยเพื่อหลีกเลี่ยงการชนโลก

อ้างอิงการวิเคราะห์ของพวกเขา คณะวิจัยบ่งชี้ว่าหนทางที่ดีที่สุดในการตอบโต้ภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อย อาจเป็นการพัฒนาระบบป้องกันภัยระดับโลกบนพื้นฐานของอาวุธนิวเคลียร์

ระบบนี้อาจรวมถึงแท่นปล่อยที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว สามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์จากภาคพื้นสู่อวกาศ ภายใน 7 วันไปจนถึง 1 เดือน นอกจากนี้ มันยังควรติดตั้งบนจรวดที่มีศักยภาพการโจมตีอย่างแม่นยำ มีระยะความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 100 เมตร ยิ่งไปกว่านั้นระบบนี้ควรเปิดทางสำหรับการประจำการหัวรบนิวเคลียร์ล่วงหน้าในวงโคจร เพื่อเตรียมพร้อมในระยะยาวมากกว่า 10 ปี

กระนั้นพวกนักวิจัยทราบดีว่าแนวคิดของพวกเขาอาจต้องเผชิญเสียงคัดค้านในเหตุผลต่างๆ อย่างแรกเลย ปัจจุบันไม่มีประเทศไหนที่มีศักยภาพปล่อยหัวรบนิวเคลียร์เข้าสู่ห้วงลึกของอวกาศ นั่นหมายความว่าอาจต้องมีการพัฒนายานปล่อยใหม่

อย่างที่สองคือ จีน รวมถึงบรรดารัฐนิวเคลียร์อื่นๆ ส่วนใหญ่ของโลก ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอกปี 1967(Outer Space Treaty) และสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty : CTBT) ซึ่งห้ามชาติผู้ลงนาม ประจำการอาวุธทำลายล้างในอวกาศ

สุดท้ายอย่างที่ 3 คือ การระเบิดของนิวเคลียร์ใดๆ จะก่อมลพิษกัมมันตภาพรังสีแม้กระทั่งในอวกาศ ซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายต่อโลกและวัตถุที่อยู่ในฟากฟ้า เช่น ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์และเนบิวลาในบริเวณใกล้เคียง

ด้วยเหตุนี้พวกนักวิจัยจึงสรุปว่าแม้การระเบิดของนิวเคลียร์จะทำผลงานอย่างน่าทึ่งในการป้องกันตนเอง แต่คงเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าที่จะเสาะหาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการสกัดดาวเคราะห์น้อย อย่างเช่นอาวุธเลเซอร์อานุภาพสูง

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเน้นย้ำว่าภัยคุกคามของดาวเคราะห์น้อยไม่ควรถูกมองข้าม เนื่องจากแนวโน้มความเสี่ยงของการตกกระทบของดาวเคราะห์น้อยนั้นมีสูงกว่าจากเคยประเมินไว้เป็นอย่างมาก บนพื้นฐานข้อมูลการตรวจพบดาวเคราะห์น้อยในปัจจุบัน

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น