ฝรั่งเศสผ่านการเลือกตั้งใหญ่มาแล้วเกือบ 2 เดือน แต่ยังตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ เมื่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ปฏิเสธเสนอชื่อ "นิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์" แนวร่วมฝ่ายซ้าย เป็นนายกรัฐมนตรีและจะเริ่มการปรึกษาหารือรอบใหม่กับพรรคการเมืองต่างๆ แทน ในวันอังคาร (27 ส.ค.)
ด้วยตระหนักว่ารัฐบาลที่นำโดยนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ (เอ็นเอฟพี) จะต้องเผชิญกับการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาจากพรรคการเมืองอื่นๆ แทบจะทันที มาครงจึงจะขอหารือกับบรรดาผู้นำพรรคและเหล่านักการเมืองก่อน จากถ้อยแถลงของทำเนียบประธานาธิบดีที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (26 ส.ค.) ทั้งนี้ เอ็นเอฟพี คือพันธมิตรพรรคการเมืองที่กว้างขวาง ไล่ตั้งแต่พรรคการเมืองสายกลางอย่างโซเชียลลิสต์ ไปจนถึงพรรค France Unbowed พรรคซ้ายจัดของ ฌอง-ลุค เมลองชอง
ถ้อยแถลงของมาครง บ่งชี้ว่าจุดจบในวิกฤตทางการเมืองของฝรั่งเศสคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากเขาประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ที่สร้างความตกตะลึง และท้ายที่สุดแล้ว ผลการเลือกตั้งก็นำมาซึ่งรัฐสภาอันเทอะทะที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองจำนวนมาก
ไม่มีฝ่ายใดที่คว้าเสียงข้างมากในศึกเลือกตั้งเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ด้วยเสียงโหวตออกมาคู่คี่สูสี ระหว่าง นิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ กลุ่มพันธมิตรสายกลางของมาครง และพรรคเนชันแนล แรลลี พรรคขวาจัด
แนวร่วมนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ คว้าเก้าอี้มาได้มากกว่าพรรคอื่นๆ เล็กน้อย และอ้างว่าแคนดิเดตของพวกเขา ลูซี คาสเตต์ ข้าราชการพลเรือนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
คาสเตต์ บอกกับมาครงในวันศุกร์ (23 ส.ค.) ว่าแนวร่วมฝ่ายซ้ายควรมีสิทธิจัดจั้งรัฐบาล และทางนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ บอกว่าจะไม่เข้าร่วมใดๆ ในการปรึกษาหารือรอบใหม่ จนกว่าจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเสนอชื่อ คาสเตต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
พวกแกนนำจากพรรคเนชันแนล แรลลี พรรคขวาจัดของฝรั่งเศส ระบุในวันจันทร์ (26 ส.ค.) ว่าพรรคของพวกเขาจะขัดขวางแคนดิเคตทุกรายจากนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ ทำให้ มาครง เหลือทางเลือกไม่มากนักในการคลี่คลายทางตัน
มารีน เลอ เปน และจอร์แดน บาร์เดลลา 2 แกนนำผู้บริหารพรรคเนชันแนล แรลลี พบปะกับ มาครง ในวันจันทร์ (26 ส.ค.) และหลังจากการหารือที่ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ทาง บาร์เดลลา ให้สัมภาษณ์ว่า นิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ เป็นอันตรายสำหรับประเทศ
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มาครง จะหันหน้าไปยังแคนดิเดตรายใด และแม้จะตัดสินใจได้แล้ว แคนดิเดตรายนั้นยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งหากสมาชิกรัฐสภาปฏิเสธ มาครงจะต้องย้อนกลับมาปรึกษาหารือกันอีกรอบ
จนถึงตอนนี้ มาครง ยังคงเพิกเฉยแคนดิเดตของแนวร่วมนิว ป็อบปูลาร์ ฟรอนต์ และแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเขา เผยว่าเขาเชื่อว่าสมดุลอำนาจควรขึ้นอยู่กับพรรคสายกลางหรือฝ่ายขวากลางมากกว่า
เลอ เปน ชี้แนะ มาครง ว่าควรจัดทำประชามติเพื่อเคลียร์เส้นทางแห่งความยุ่งเหยิง และบอกว่าเธอคัดค้านการจัดตั้งรัฐบาล "วิชาการ" ใดๆ ที่ประกอบด้วยพวกนักวิชาการซึ่งไม่มีความสนใจหรือไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง โดยเชื่อว่า "ท้ายที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นรัฐบาลการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพวกนักวิชาการ"
(ที่มา : รอยเตอร์)