อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่เกิดในแอฟริกาใต้ เรียกร้องให้ปล่อยตัว พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเทเลแกรม ที่ถูกจับกุมเมื่อวันเสาร์ (24 ส.ค.) ไม่นานหลังจากเดินทางถึงสนามบินปารีส เลอ บูร์เกต์ พร้อมกับโยงการจับกุมครั้งนี้เทียบเท่ากับเป็นการโจมตีสิทธิการแสดงออก
เจ้าหน้าที่ในฝรั่งเศส เชื่อว่า ดูรอฟ บุคคล 2 สัญชาติ รัสเซียและฝรั่งเศส วัย 39 ปี สมคบคิดในอาชญากรรมต่างๆ ที่กระทำบนแพลตฟอร์มของเขา อ้างว่าการขาดการกลั่นกรองอย่างเพียงพอของเทเลแกรม เปิดทางให้แพลตฟอร์มแห่งนี้ถูกใช้งานแบบละเมิดกฎหมายอย่างกว้างขวาง
มัสก์ ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์ของเขาเองโพสต์วิดีโอหนึ่งเป็นภาพที่ ดูรอฟ กำลังให้สัมภาษณ์กับ ทัคเคอร์ คาร์สัน ผู้สื่อข่าวหัวอนุรักษนิยมชาวอเมริกา เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกในโลกออนไลน์ และกล่าวว่าเขามีความสุขกับข้อเท็จจริงที่ว่า มัสก์ ในแผนซื้อทวิตเตอร์ ทั้งนี้ มัสก์ ได้ผูกวิดีโอดังกล่าวเข้ากับแฮชแท็ก #FreePavel
เขาประณามอย่างทันทีทันควันต่อรายงานข่าวการจับกุม โดยเขียนแสดงความคิดเห็นในข่าวว่า "ตามมุมมองของผม : มันกำลังก้าวสู่ปี 2030 ในยุโรป แต่คุณกำลังจัดการคนคนหนึ่งสำหรับกดไลก์มุกขำขันหนึ่งๆ เนี่ยนะ" มัสก์ เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวการจับกุมดูรอฟ
มัสก์ ยังเขียนด้วยว่า "นี่คือช่วงเวลาแห่งอันตราย" ตอบสนองโพสต์หนึ่งที่เผยแพร่รายชื่อประเทศต่างๆ ที่ "สิทธิเสรีภาพการแสดงออกถูกโจมตี" พาดพิงถึงกรณีข่าวคราว ดูรอฟ ถูกจับในฝรั่งเศส
ตามรายงานของสื่อมวลชนฝรั่งเศส ดูรอฟ เดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวจากกรุงบาคู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน มายังฝรั่งเศส พร้อมด้วยบอดีการ์ด 1 คน และผู้ช่วยอีกคน รายงานข่าวระบุด้วยว่า ดูรอฟ มีแผนพักค้างคืนในกรุงปารีสอย่างน้อย 1 คืน
ดูรอฟ ถือครองสิทธิความเป็นพลเมืองของทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เซนต์คิตส์และเนวิส ฝรั่งเศสและรัสเซีย บ้านเกิดเมืองนอน ขณะที่สถานทูตมอสโกในปารีส บอกว่าพวกเขากำลังตรวจสอบสถานการณ์ แต่ยอมรับว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับคำร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการใดๆ
นอกจาก มัสก์ แล้ว คนดังอีกรายอย่าง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอและพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกมาประณามการควบคุมตัว ดูรอฟ เช่นกัน โดยจอมแฉรายนี้บอกว่ามันเป็นอันตรายต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งในแง่สิทธิการพูดและสิทธิในการคบค้าสมาคม รวมถึงเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าเศร้าอย่างยิ่งของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส
"ผมรู้สึกประหลาดใจและเศร้าใจอย่างยิ่งที่ มาครง ดำดิ่งถึงขั้นใช้การจับตัวประกันเป็นหนทางในการเข้าถึงการสื่อสารส่วนบุคคล" เขากล่าว พร้อมเน้นว่าความเคลื่อนไหวว่า "ถือเป็นการลดคุณค่าไม่ใช่แค่กับฝรั่งเศส แต่ยังรวมถึงทั่วทั้งโลกด้วย"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)