ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันในการแพร่กระจายความหวาดกลัวที่มีต่อคลังแสงนิวเคลียร์ของปักกิ่งเป็นเรื่องเหลวไหลโดยสิ้นเชิง จากเสียงตอบโต้ของ เหมา หยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์
ทั้งนี้ ความเห็นของเขามีขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้อัปเดตอย่างลับๆ "แนวทางการใช้นิวเคลียร์ของประเทศ (the nuclear employment guidance)" หันไปมุ่งเน้นที่จีนเป็นพิเศษ
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในวันพุธ (21 ส.ค.) เหมา บอกว่าปักกิ่งมีความกังวลใหญ่หลวงต่อรายงานดังกล่าว "สหรัฐฯ เรียกจีนว่าเป็นภัยคุกคามนิวเคลียร์ และใช้มันเป็นข้ออ้างสำหรับอเมริกาในการละทิ้งพันธสัญญาของพวกเขาที่มีต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์" เธอกล่าว
เหมา บอกว่าขนาดคลังแสงนิวเคลียร์ของจีน "ไม่ได้ใกล้เคียงอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐฯ" พร้อมเน้นย้ำว่า "ปักกิ่งทำตามนโยบาย ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนและคงไว้เสมอซึ่งแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ในระดับต่ำสุดที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงของชาติ และจีนไม่มีเจตนามีส่วนร่วมใดๆ กับรูปแบบของการแข่งขันสะสมอาวุธกับรัฐอื่นๆ"
"มันเป็นสหรัฐฯ เองที่เป็นแหล่งบ่อเกิดหลักของภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ และความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ในโลกใบนี้" โฆษกหญิงระบุ
ในปี 2023 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) คาดการณ์ว่า จีนจะมีคลังแสงหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถใช้งานได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นกว่า 1,000 หัวรบภายในปี 2030 ในขณะที่ปัจจุบันอเมริกามีหัวรบนิวเคลียร์ 5,550 หัวรบ และรัสเซียมี 6,255 หัวรบ อ้างอิงข้อมูลที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม
ทำเนียบขาวปฏิเสธความกังวลของจีน โดยทางโฆษกชี้แจงการแก้ไขยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของสหัฐฯ ว่าเป็นการอัปเดตเป็นประจำ "ไม่ได้ตอบโต้องค์กรหรือประเทศไหนๆ หรือภัยคุกคามใดๆ"
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความจีนซ้ำๆ ว่าเป็น "ภัยท้าทาย" ต่อสันติภาพโลก และกล่าวหาปักกิ่งบีบบังคับทางเศรษฐกิจและด้านการทหาร ในทางกลับกัน จีนกล่าวโทษสหรัฐฯ สำหรับความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้วอชิงตัน ละทิ้ง "แนวคิดแบบสงครามเย็น"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)