xs
xsm
sm
md
lg

เบาใจได้หน่อย! WHO เชื่อฝีดาษวานรไม่ซ้ำรอยโควิด-19 จะไม่นำมาซึ่งความตื่นตระหนก-ล็อกดาวน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคฝีดาษวานร (monkeypox) ไม่เสี่ยงเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขดังเช่นโควิด-19 และไม่นำมาซึ่ง "วัฏจักรแห่งความตื่นตระหนก" และการล็อกดาวน์ จากความเห็นของ ฮันส์ คลูก ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรป ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือน องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความน่ากังวลในระดับนานาชาติ แบบเดียวกับที่เคยประกาศกับโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020

ทั้งนี้ ในขณะที่ตัวกลายพันธุ์ที่เบากว่าเดิมของโรคฝีดาษวานร ที่เรียกว่า Clade 2 แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2022 แต่ตัวกลายพันธุ์ที่แพร่เชื่อได้ง่ายกว่า Clade 1b ได้สังหารผู้คนในแอฟริกากลางไปแล้วหลายร้อยชีวิต และเพิ่งตรวจพบในสวีเดนในสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับไทย ที่ยืนยันพบผู้ป่วยต้องสงสัยสายพันธุ์นี้ในวันพุธ (21 ส.ค.)

ระหว่างแถลงสรุปที่สหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (20 ส.ค.) คลูก ระบุว่าด้วยอุปทานวัคซีนที่มีเพียงพอสำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในแอฟริกา และจากการคอยสังเกตอาการคนไข้ฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด จึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

"ในภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก กำลังเข้าสู่การล็อกดาวน์หรือไม่ มันเป็นอีกหนึ่งโควิด-19 หรือเปล่า? คำตอบชัดเจน คือ ไม่" คลูก ระบุ

"เมื่อ 2 ปีก่อน เราควบคุมฝีดาษวานรได้ในยุโรป ซึ่งต้องขอบคุณการมีส่วนร่วมโดยตรง กับประชาคมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นั่นคือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย" เขากล่าว "เราจะเลือกวางระบบเพื่อการควบคุม แล้วกำจัดฝีดาษวานรทั่วโลก หรือจะเลือกเข้าสู่วงจรแห่งความตื่นตระหนกอีกรอบ"

เคสผู้ติดเชื้อ Clade 2 ส่วนใหญ่จำนวนมาก เกิดขึ้นกับชาวเกย์ และกลุ่มชายที่สามารถมีความรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง (bisexual men) โดยเฉพาะกับคนที่มีคู่นอนหลายคน ในขณะที่ Clade 1b เชื่อว่าแพร่กระจายได้ง่ายกว่าผ่านการสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ใดๆ

โรคฝีดาษวานรคล้ายกับไข้ทรพิษ ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 มันเป็นโรคเฉพาะถิ่นในหลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง อาการเบื้องต้นของมันมีทั้งเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หนาวสั่นและอ่อนเพลีย

เบื้องต้นโรคนี้ได้รับการเรียกขานว่า Monkeypox (ฝีดาษวานร) ก่อนองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อใหม่เป็น mpox ในช่วงปลายปี 2022 โดยอ้างว่าชื่อเดิมของมันเป็นการตราหน้าและเหยียดเชื้อชาติ

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น