xs
xsm
sm
md
lg

ระวังหายนะ! ปธน.เบลารุสเชื่อยูเครนบุกรัสเซีย หวังยั่วให้มอสโกใช้อาวุธนิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เชื่อว่าปฏิบัติการของยูเครนที่รุกรานเข้าสู่ดินแดนของรัสเซีย ดูเหมือนเป็นความพยายามยั่วยุบีบให้มอสโกใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อที่วังเครมลินจะไม่เหลือพันธมิตรอีกต่อไป

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรัสเซีย-1 ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ (18 ส.ค.) ลูคาเชนโก เตือนว่าปฏิบัติการของเคียฟในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการจู่โจมข้ามชายแดนครั้งใหญ่ที่สุดของเคียฟ นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น ก่อความเสี่ยงมหึมาต่อความมั่นคงของโลก

"ที่น่ากังวลคือ การทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายโดยฝ่ายยูเครน ในความพยายามบีบให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้ที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ ลองคิดถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ดู ผมมั่นใจว่ายูเครนจะมีความสุขหากว่ารัสเซียหรือเราใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี มันจะมอบความสุขแก่พวกเขา"

ลูคาเชนโก เชื่อว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะทำให้พันธมิตรทั้งหลายตีตัวออกห่างจากรัสเซียและเบลารุส "เมื่อนั้น บางทีเราอาจเหลือพันธมิตรไม่กี่ชาติ โดยทั่วไปแล้วคงไม่มีความเห็นใจจากประเทศต่างๆ เหลืออยู่ เพราะว่าพวกเขาต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น"

"อย่างที่ 2 คือ มันคืออาวุธนิวเคลียร์ เราเคยเห็นกันมาแล้วเกี่ยวกับภาพลักษณ์ในแง่ลบของพวกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการผลักเราให้ทำมัน" ผู้นำเบลารุสระบุ

ลูคาเชนโก ยังพูดถึงถ้อยแถลงต่างๆ ของพวกเจ้าหน้าที่ยูเครน ที่อ้างว่าการรุกรานแคว้นคูร์สก์ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสถานะของเคียฟ ในความเป็นไปได้ของการเจรจาใดๆ กับรัสเซีย "มันเป็นแผนคลาสสิก แต่มันคงไม่ได้ผลยามต่อสู้กับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่หนึ่งๆ" เขากล่าว พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ในท้ายที่สุดแล้วยูคเรนจะถูกขับไล่พ้นจากแคว้นคูร์สก์

อ้างอิงจากยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน รัสเซียจะสามารถใช้คลังแสงนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อ "เป็นการตอบโต้การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือรูปแบบอาวุธทำลายล้างอื่นๆ กับรัสเซียหรือพันธมิตรของรัสเซีย และในกรณีที่มีการรุกรานรัสเซีย โดยใช้อาวุธตามแบบทั่วไป ที่ทำให้ความอยู่รอดของรัฐรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง"

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยพูดมาแล้วหลายครั้งว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยุทธการยูเครน มอสโกเคยเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเป็นการตอบโต้ในสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการยกระดับเคลื่อนไหวของนาโตเท่านั้น

(ที่มา : เอเจนซี/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น