มีประชาชนเกือบ 14,000 รายในสหราชอาณาจักรที่ยื่นขอเงินชดเชยจากรัฐบาลสำหรับความพิการที่พวกเขาอ้างว่ามีต้นตอจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (17 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้มีเพียงแค่ 175 คน หรือไม่ถึง 2% ของพวกที่เรียกร้องเงินชดเชยที่ได้รับการโอนเงินแบบก้อนเดียว รายละ 120,000 ปอนด์ (ราว 5.6 ล้านบาท)
ข้อมูลที่เทเลกราฟได้มา ผ่านคำร้องขอด้านเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร บ่งชี้ว่าบรรดาพวกที่ในท้ายที่สุดแล้วได้รับเงินชดเชย เป็นกลุ่มคนที่มีอาการต่างๆ อย่างเช่นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย มีลิ่มเลือดที่เป็นอันตราย มีอาการอักเสบบริเวณไขสันหลัง แขนที่ฉีดวัคซีนบวมเป่งเป็นอย่างมาก และอัมพาตใบหน้า
อย่างไรก็ตาม มีอีกนับหมื่นคนที่ถูกปฏิเสธจ่ายเงินชดเชย สืบเนื่องจากพวกผู้ประเมินทางการแพทย์ของรัฐบาลโต้แย้งว่าไม่มีข้อพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่าปัญหาทางสุขภาพของพวกเขานั้นเป็นผลลัพธ์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายร้อยคนที่ถูกปฏิเสธ สืบเนื่องจาก "ไม่พิการเพียงพอ" โดยภายใต้กฎระเบียบของโครงการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากวัคซีน (VDPS) ผู้ยื่นขอเงินชดเชยจำเป็นต้องเข่าข่ายคุณสมบัติคนพิการอย่างน้อยๆ 60%
จากข้อมูลพบว่าราว 97% ของผู้ยื่นขอเงินชดเชยเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนก้า ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และแอสตราเซนเนก้า บริษัทสัญชาติสหราชอาณาจักร-สวีเดน ส่วนที่เหลือเกี่ยวข้องกับวัคซีนจากไฟเซอร์และโมเดอร์นา
หนังสือพิมพ์เทเลกราฟเน้นว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้า แม้มันถูกระงับใช้ในเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและบรรดาประเทศยุโรปอื่นๆ ในเดือนมีนาคม 2021 ท่ามกลางรายงานพบเคสลิ่มเลือดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โฆษกของแอสตราเซนเนก้าให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เทเลกราฟ ว่าวัคซีนของพวกเขา "ยังคงแสดงให้เห็นถึงประวัติด้านความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับได้ และคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบทั่วโลก เน้นย้ำมาตลอดว่าประโยชน์ของวัคซีนอยู่เหนือความเสี่ยงต่างๆ ของผลข้างเคียฟที่หาได้ยากมากๆ"
ในเรื่องปัญหาแทรกซ้อนสุขภาพอันเนื่องมาจากวัคซีน ทางโฆษกกล่าวว่า "เราเห็นใจทุกคน ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือมีรายงานเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพ"
เมื่อเดือนพฤษภาคม แอสตราเซนเนก้า ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าวัคซีนของพวกเขาก่อลิ่มเลือดในบางกรณี และเริ่มถอนผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก อ้างว่าวัคซีนใหม่ล่าสุดที่มีการปรับให้เข้ากับตัวกลายพันธุ์ล่าสุดของไวรัสโคโรนามีประสิทธภาพมากกว่า
(ที่มา : เทเลกราฟ/อาร์ทีนิวส์)