ผู้ช่วยทรงอิทธิพลรายหนึ่งของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ออกมาระบุวานนี้ (16 ส.ค.) ว่ากลุ่มชาติตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่สหรัฐฯ เป็นหัวโจกมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ และช่วยวางแผนให้ยูเครนบุกโจมตีแคว้นคูสก์ (Kursk) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่สหรัฐฯ ปฏิเสธเสียงแข็ง
ปฏิบัติการโจมตีแบบสายฟ้าแลบซึ่งถือเป็นการรุกรานดินแดนรัสเซียครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค. โดยทหารยูเครนหลายพันนายพร้อมรถถังและยานเกราะได้บุกข้ามพรมแดนเข้าไปยังแคว้นคูสก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความอับอายขายหน้าให้กองทัพของ ปูติน อย่างมาก
รัฐบาลยูเครนระบุว่า ปฏิบัติการบุกแดนหมีขาวครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อบีบให้รัสเซียยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจายุติสงคราม “แบบแฟร์ๆ” หลังจากที่ส่งทหารรุกรานและยึดดินแดนยูเครนบางส่วนเอาไว้ตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2022
สหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกซึ่งยังเกรงที่จะต้องเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงกับรัสเซียยืนยันว่า “ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า” จากรัฐบาลยูเครน ขณะที่วอชิงตันย้ำว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” แม้จะปรากฏหลักฐานว่าอาวุธที่อังกฤษและสหรัฐฯ ส่งให้ยูเครนถูกนำไปใช้โจมตีดินแดนรัสเซียก็ตาม
นิโคไล พาทรูเชฟ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียซึ่งปัจจุบันถูกย้ายไปกำกับดูแลหน่วยงานด้านนโยบายทางทะเล ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Izvestia ว่าคำกล่าวอ้างของตะวันตกนั้นเชื่อถือไม่ได้
“ปฏิบัติการที่แคว้นคูสก์มีนาโตและหน่วยรบพิเศษของตะวันตกเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนด้วย” พาทรูเชฟ ให้สัมภาษณ์โดยไม่แสดงหลักฐานยืนยัน
“หากปราศจากการมีส่วนร่วมและความช่วยเหลือโดยตรง (ของตะวันตก) เคียฟไม่มีทางกล้าบุกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย”
เจ้าหน้าที่รายนี้ยังบอกด้วยว่า “การกระทำของสหรัฐฯ กำลังสร้างเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ยูเครนต้องสูญเสียอธิปไตยและดินแดนบางส่วนไป”
ยูเครนประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (15) ว่าได้ตั้ง “ศูนย์บัญชาการทางทหาร” ขึ้นภายในดินแดนแคว้นคูสก์ส่วนที่ควบคุมไว้ได้แล้ว แม้รัสเซียจะยกระดับปฏิบัติการโจมตีพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนก็ตาม
ประธานาธิบดี ปูติน ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งรวมถึง พาทรูเชฟ ด้วย พร้อมสั่งให้ทุกฝ่ายหา “แนวทางแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคใหม่” เพื่อนำมาใช้ในปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงวานนี้ (16) ว่า ยูเครนใช้จรวดของตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเป็นระบบขีปนาวุธหลายลำกล้อง HIMARS ของสหรัฐฯ ในการโจมตีสะพานแห่งหนึ่งที่ทอดข้ามแม่น้ำเซย์ม (Seym River) มีแคว้นคูสก์ จนเป็นเหตุให้กลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยอพยพพลเรือนเสียชีวิต
“นี่เป็นครั้งแรกที่แคว้นคูสก์ถูกยิงโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวดที่ผลิตโดยตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นขีปนาวุธ HIMARS ของสหรัฐฯ” มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โพสต์ข้อความผ่านเทเลแกรมเมื่อค่ำวานนี้ (16)
แม้การจู่โจมข้ามแดนของยูเครนจะชี้ให้เห็น “จุดอ่อน” ด้านการป้องกันของรัสเซียและทำให้มุมมองที่สาธารณชนมีต่อสงครามเปลี่ยนไปบ้าง แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียยืนยันว่า “ปฏิบัติการรุกรานก่อการร้าย” ของยูเครนไม่สามารถทำให้สงครามเปลี่ยนทิศได้
ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียยังคงเป็นฝ่ายรุกคืบต่อเนื่องตลอดพื้นที่แนวหน้าซึ่งกินระยะทางราว 1,000 กิโลเมตร และมีความได้เปรียบยูเครนในหลายด้าน รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารัสเซียยึดดินแดนยูเครนอยู่ถึง 18%
ทางด้านยูเครนสามารถบุกเข้าไปยึดพื้นที่แคว้นคูสก์ได้ราวๆ 450 ตารางกิโลเมตรในช่วง 10 วันที่ผ่านมา หรือไม่ถึง 0.003% ของดินแดนรัสเซียทั้งหมด ทว่าในมุมของ ปูติน สิ่งที่เคียฟทำก็ถือว่าเป็นการ “ล้ำเส้น” อย่างมากแล้ว
ที่มา : รอยเตอร์