xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ เรียกร้องวอชิงตันรีดภาษีย้อนหลังสินค้าจาก ‘ไทย-เวียดนาม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ เรียกร้องวานนี้ (15 ส.ค.) ให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พิจารณาเก็บภาษีย้อนหลังจากไทยและเวียดนาม สืบเนื่องจากปริมาณการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้นระหว่างที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังถูกตรวจสอบฐานมีแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อเดือน พ.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เปิดการสอบสวนแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา หลังมีกลุ่มผู้ผลิตภายในประเทศร้องเรียนว่าสินค้าเหล่านี้ถูกส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ด้วยราคาต่ำกว่าท้องตลาด และยังได้รับประโยชน์จากมาตรการอุดหนุนของ "จีน" ซึ่งมีผู้ผลิตหลายรายเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าในภูมิภาคนี้

แผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ชาติอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าในปีที่แล้วเมื่อเทียบมูลค่าเป็นดอลลาร์สหรัฐ ตามฐานข้อมูลการค้าที่สืบค้นโดยรอยเตอร์

รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ให้คำมั่นสัญญาจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ และมอบแรงจูงใจ (incentives) เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าภายในประเทศที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อน รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่ยังมีที่มาจากจีน

ผู้ผลิตรายย่อยในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ ยอมรับว่า พวกเขาเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าซึ่งมีราคาถูกกว่า

คณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์อเมริกัน (American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee) ระบุในคำร้องที่ส่งถึงกระทรวงพาณิชย์ว่า หลังจากที่ได้มีการยื่นร้องเรียนมีการสอบสวนแผงโซลาร์เซลล์นำเข้าจากทั้ง 4 ประเทศไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. ปรากฏว่าตัวเลขการนำเข้าจากไทยและเวียดนามยังคงเพิ่มสูงขึ้น

กระบวนการสอบสวนนี้อาจนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป หากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่าพบพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในผลการสอบสวนเบื้องต้นที่จะออกในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งอาจนำไปสู่การสั่งเก็บภาษีย้อนหลัง 90 วันนับตั้งแต่มีคำตัดสิน

กระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามและไทยยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อในประเด็นนี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระบุว่า มาตรการทางภาษีใหม่นี้อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเวียดนาม ซึ่งเสี่ยงที่จะโดนอัตราภาษีขั้นสูงสุด เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงตราหน้าว่าเป็นชาติที่มีระบบเศรษฐกิจไม่อิงกลไกตลาด (non-market economy) ซึ่งสถานะดังกล่าวมักจะนำไปสู่บทลงโทษที่หนักขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าภายในประเทศถูกมองว่าเชื่อถือไม่ได้

สหรัฐฯ ประเมินว่าส่วนต่างระหว่างราคาส่งออกกับมูลค่าปกติของสินค้าที่ขายในประเทศ หรือที่เรียกว่า dumping margins นั้นอาจสูงกว่า 270% ในกรณีของเวียดนาม หรือมากกว่าไทยกว่า 3 เท่าตัว ซึ่งส่วนต่างยิ่งมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสถูกเก็บภาษีลงโทษสูงขึ้นเท่านั้น

ในคำร้องฉบับล่าสุด กลุ่มผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากเวียดนามและไทยเพิ่มขึ้น 39% และ 17% ตามลำดับในช่วงไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ และยังกล่าวหาว่าทั้ง 2 ประเทศเพิ่มการส่งออกมายังสหรัฐฯ มากขึ้นก่อนที่จะมีคำตัดสินของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งอาจนำไปสู่บทลงโทษ

กลุ่มผู้ผลิตสหรัฐฯ ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็น “สถานการณ์ขั้นวิกฤต” (critical circumstances) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะต้องตรวจสอบว่ามีสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เพื่อนำไปสู่การสั่งรีดภาษีย้อนหลัง

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น