xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์สนั่น! จีนเล็งแก้กฎหมายเอื้อให้คน ‘แต่งงาน’ ง่ายขึ้น แต่จะ ‘หย่า’ ต้องรอ 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนเตรียมแก้กฎหมายเอื้อให้การจดทะเบียนสมรสทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่การหย่าร้างจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าเดิม ในความเคลื่อนไหวที่จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นเทรนด์ฮอตในโซเชียลมีเดียวันนี้ (15 ส.ค.)

กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนได้เผยแพร่ร่างแก้ไขกฎหมายที่ระบุว่ามุ่งสร้าง “สังคมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว” เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน โดยจะเปิดให้พลเมืองจีนสามารถส่งความคิดเห็นเข้าไปยังกระทรวงได้จนถึงวันที่ 11 ก.ย.นี้

การแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของผู้กำหนดนโยบายจีนที่ต้องการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวหันมาแต่งงานสร้างครอบครัวและมีบุตร เพื่อแก้ไขวิกฤตประชากรจีนที่ลดลงต่อเนื่องมา 2 ปีติดแล้ว

ร่างกฎหมายนี้มีการลดทอนข้อจำกัดในแง่ของถิ่นที่อยู่อาศัยลง จากเดิมที่กฎหมายจีนกำหนดไว้ว่าการจดทะเบียนสมรสจะต้องกระทำในเขตพื้นที่ตามทะเบียนบ้านของคู่แต่งงานเท่านั้น

อย่างไรก็ดี คู่สมรสที่ประสงค์หย่าร้างจะมีช่วงเวลา “รอ” 30 วันหลังจากที่ยื่นคำร้อง ซึ่งระหว่างนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการหย่า ก็สามารถถอนคำร้องได้ทันที และกระบวนการจดทะเบียนหย่าถือเป็นอันสิ้นสุด

“แต่งงานง่าย แต่เวลาจะหย่ากลับยาก นี่มันกฎหมายงี่เง่าอะไรเนี่ย” ผู้ใช้ weibo รายหนึ่งกล่าว ซึ่งปรากฏว่ามีชาวเน็ตเข้าไปกดถูกใจหลายหมื่นครั้ง

เจียง เฉวียนเป่า (Jaing Quanbao) อาจารย์ประจำสถาบันเพื่อการศึกษาด้านประชากรและการพัฒนาในสังกัดมหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง ให้สัมภาษณ์กับสื่อโกลบอลไทม์สว่า กฎหมายนี้มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของการแต่งงานและการสร้างครอบครัว ป้องกันการหย่าร้างด้วยอารมณ์ชั่ววูบ สร้างความมั่นคงทางสังคม ตลอดจนปกป้องสิทธิตามกฎหมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จำนวนคู่รักชาวจีนที่จดทะเบียนสมรสในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 3.43 ล้านคน ลดลง 498,000 คนจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2013

นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจีนทำให้การแต่งงานเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีบุตร รวมถึงการที่พ่อแม่ต้องนำทะเบียนสมรสไปแสดง เพื่อลงทะเบียนขอรับสวัสดิการอุดหนุนสำหรับลูกที่เกิดมา

อย่างไรก็ตาม คนจีนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกที่จะเป็นโสดหรือเลื่อนการแต่งงานออกไปก่อน เนื่องจากกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาชีพการงาน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาในช่วงเวลานี้

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น