องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง หรือ mpox เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (global public health emergency) เมื่อวันพุธ (14 ส.ค.) ซึ่งถือเป็นการออกประกาศเตือนครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี ตามหลังการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งกำลังแพร่กระจายออกไปสู่ประเทศข้างเคียง
คณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO ได้มีการเรียกประชุมวานนี้ (14) เพื่อมอบคำแนะนำแก่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ว่าสมควรที่จะประกาศให้การระบาดของ mpox ระลอกนี้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระดับนานาชาติ (PHEIC) หรือไม่
สำหรับ PHEIC นั้นถือเป็นคำเตือนขั้นสูงสุดของ WHO ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดงานวิจัย การระดมทุน ตลอดจนมาตรการด้านสาธารณสุขและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคหนึ่งๆ
“เห็นได้ชัดว่ามาตรการตอบสนองที่สอดประสานกันของนานาชาติคือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาด และปกป้องชีวิตผู้คน” ทีโดรส กล่าว
mpox สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักอาการไม่รุนแรง โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่บวกกับมีแผลตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย ทว่าในบางกรณีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต
การระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเริ่มต้นจากสายพันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกว่า clade I ทว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า clade Ib นั้นสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นผ่านการสัมผัสใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์
ไวรัสตัวใหม่นี้ได้ระบาดจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งกระตุ้นให้ WHO ต้องยกระดับเตือนภัยฉุกเฉิน
“การตรวจพบและการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ mpox สายพันธุ์ใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงการพบผู้ป่วยในประเทศข้างเคียงที่ไม่เคยมีรายงาน mpox มาก่อน ตลอดจนโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ คือสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” ทีโดรส กล่าว
WHO ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนอนุมัติเพิ่มเติมภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยแผนรับมือการระบาดของ mpox รอบนี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง WHO ก็หวังที่จะระดมเงินสนับสนุนจากผู้บริจาคด้วย
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขสูงสุดของแอฟริกาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน mpox ภายในทวีปแอฟริกา หลังพบว่าไวรัสกำลังแพร่กระจายในอัตราเร็วอย่างน่ากังวล โดยในปีนี้พบผู้ป่วยต้องสงสัยแล้วมากกว่า 17,000 คน และในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ในคองโก
ที่มา : รอยเตอร์