(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
A tale of two bubbles
by David P Goldman
06/08/2024
ทั้งคณะบริหารไบเดนในกรุงวอชิงตัน และคณะรัฐบาลคิชิดะในกรุงโตเกียว ต่างกำลังดำเนินนโยบายที่ไร้ความยั่งยืนอย่างเดียวกัน นั่นคือการปล่อยให้งบดุลของรัฐบาลพองลมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะดึงให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ขยับขึ้นตามไป
พวกฟองสบู่ (ในตลาดการเงิน) สามารถคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกเหมือนพวกมันเป็นปัจจัยพื้นฐานไปเลย และจวบจนถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง พวกนักลงทุนยังเชื่อกันอยู่เลยว่า หุ้นบริษัทเทคทั้งหลายนั้นมีแต่จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทางเดียวเท่านั้น ส่วนสกุลเยนญี่ปุ่นก็มีแต่จะอ่อนค่าหล่นลงมาทางเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อตลาด (ในสหรัฐฯ) เปิดทำการในวันจันทร์ (5 ส.ค.) พวกนักลงทุนจึงต่างพากันตื่นกลัวหัวหดมองหาที่หลบภัยกันเป็นแถว เมื่อฟองสบู่สองอย่างนี้เกิดแตกดังโพละขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งคณะบริหารไบเดนในกรุงวอชิงตัน และคณะรัฐบาลคิชิดะในกรุงโตเกียว ต่างกำลังดำเนินนโยบายที่ไร้ความยั่งยืนอย่างเดียวกัน นั่นคือการปล่อยให้งบดุลของรัฐบาลพองลมขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะดึงให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ขยับขึ้นตามไป
พอถึงวันที่ 31 กรกฎาคม เมื่อธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นของตนขึ้นมาอยู่ที่ 0.25% จากที่เคยอยู่ในระดับ 0% รวมทั้งแถลงว่าจะค่อยๆ รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลให้ “ลดน้อยลง” ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารชาติแห่งนี้คือผู้ครอบครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นถึงราวๆ ครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่เวลานี้ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน
การซื้อหาหนี้สินอย่างเกินงามของญี่ปุ่นเช่นนี้ กลายเป็นตัวผลักดันความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูงขึ้น พร้อมๆ กับที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง ขณะเดียวกับที่พยุงตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ลอยขึ้นเรื่อยมาในระหว่างช่วงเวลา 3 ปีที่แล้ว
ค่าเงินเยนที่อ่อนลงหมายถึงรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศถูกแปลงให้กลายเป็นเงินสกุลเงินท้องถิ่นจำนวนที่ใหญ่โตมากขึ้น เวลาเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็ลดค่าจ้างแท้จริง เป็นเหตุให้เกิดการถ่ายโอนรายได้แห่งชาติจากครัวเรือนต่างๆ มายังพวกบริษัทธุรกิจต่างๆ
Graphic: Asia Times
อย่างที่ชาร์ตข้างบนนี้แสดงให้เห็น อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน (ระหว่างเยนกับดอลลาร์สหรัฐฯ), ความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ (ที่สะท้อนให้เห็นในความแตกต่างของอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นแบบที่คำนวณปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ กับแบบธรรมดาตามหน้าตั๋ว, และราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (ดูจากดัชนีหุ้น TOPIX) ต่างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างสอดคล้องพร้อมเพรียงมาเป็นเวลาแรมปี พวกดัชนีสำคัญๆ ของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นต่างสูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 20% ในการซื้อขายวันที่ 5 สิงหาคม ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมาในตอนเปิดตลาดวันที่ 6 สิงหาคม
เวลาเดียวกันนั้น ในสหรัฐฯ คณะบริหารไบเดนได้พยายามตักเงินโยนเข้าไปในกระเป๋าของพวกผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มจำนวนเงินที่โอนไปให้พวกเขาแบบให้เปล่า อย่างที่ผมได้อธิบายเอาไว้ในบทวิเคราะห์ของผมที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา
อาวุธที่วอชิงตันเลือกนำมาใช้ยังเป็นอาวุธทางการคลังแทนที่จะเป็นอาวุธทางการเงิน กล่าวคือ รายจ่ายเงินโอน (Transfer payments) (ในรูปของเช็คจากรัฐบาลกลางที่จัดส่งไปยังบุคคล) เพิ่มขึ้นเกือบๆ 20% เหนือแนวโน้มระยะยาว
นักเศรษฐศาสตร์ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส (Lawrence Summers) ที่เคยเป็นรัฐมนตรีคลังในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้คำนวณออกมาว่า อัตราเงินเฟ้อแท้จริง ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของพวกสินเชื่อผู้บริโภคเข้าไปด้วยนั้น ได้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 18% ในปี 2023 และยังคงอยู่ที่ 8% ในปี 2024 หรือสองเท่าตัวของตัวเลขทางการ
พวกผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มต้นถอยห่างจากการซื้อหาพวกสินค้าขายปลีกในเดือนพฤษภาคม และอัตราเติบโตของการจ้างงานก็เริ่มชะงักเมื่อถึงเดือนกรกฎาคม
ในกรณีของญี่ปุ่น การก่อกบฏครั้งใหญ่โดยพวกผู้ออกเสียง ซึ่งให้คะแนนความยอมรับนายกรัฐมนตรีคิชิดะเพียงแค่ 15.5% เท่านั้น บังคับให้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นต้องทำอะไรออกมาบ้าง
พวกผู้ออกเสียงชาวญี่ปุ่นที่ต้องทนทุกข์มายาวนานต่างเหน็ดหน่ายกับการที่อัตราเงินเฟ้อกำลังกัดกร่อนบั่นทอนมาตรฐานการครองชีพของพวกเขา ในสหรัฐฯ พวกผู้บริโภคใช้บัตรเครดิตมาอุดช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อ 8% กับรายได้รายสัปดาห์โดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นเพียง 3.3% ในเดือนกรกฎาคมจากช่วงเดือนเดียวกันของปี 2023
เมื่อถึงเดือนมิถุนายน พวกผู้บริโภคสหรัฐฯก็ได้ยุติการกู้ยืมและยุติการใช้จ่าย และฟองสบู่เงินเฟ้อที่กำลังขับดันอัตราเติบโตของสหรัฐฯก็ได้เริ่มต้นหดแฟบ รายงานตัวเลขผู้ไม่มีงานทำที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ (2 ส.ค.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานกำลังอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี คือเสียงนาฬิกาปลุกให้ตื่นขึ้นจากความหลับใหล
Graphic: Asia Times
ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดคำถามข้อข้องใจเกี่ยวกับราคาหุ้นที่พุ่งทะยานเหมือนจรวดของพวกบริษัทบิ๊กเทค ซึ่งการที่พวกเขาทุ่มลงทุนอย่างมหาศาลไปในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ดูเหมือนไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับรายรับที่บริษัทเหล่านี้มีลู่ทางที่จะได้เข้ามา
Graphic: Asia Times
เราได้เขียนไว้ในรายงาน Global Risk-Reward Monitor ของเอเชียไทมส์ เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม ดังนี้ : “ตั้งแต่ปี 2017 ปริมาณพันธบัตรคลังสหรัฐฯที่ครอบครองโดยต่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 8 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 6 ล้านล้านดอลลาร์ เวลาเดียวกัน สินทรัพย์สหรัฐฯที่ถือครองโดยต่างประเทศได้กระโจนพรวดเป็น 15 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 6 ล้านล้านดอลลาร์ ความเป็นผู้นำของอเมริกาในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และในด้านการออกแบบชิปที่เป็นตัวสนับสนุนเอไอ คือเสน่ห์ดึงดูดหลักของเงินดอลลาร์ ถ้าหากพวกหุ้นเทคสูญเสียความสว่างโชติช่วงของพวกมันไป เงินดอลลาร์ก็จะอยู่ในฐานะอ่อนปวกเปียกเช่นกัน”
Graphic: Asia Times
พี/อี เรโช (P/E ratio อัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น) ของหุ้นหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศของเอสแอนด์พี (S&P Information Technology sector) ที่เวลานี้กำลังต้วมเตี้ยมล้าหลังนั้น ในช่วงระหว่างปี 2008 – 2022 เคยอยู่ในจุดที่พูดได้คร่าวๆ ว่า เป็นระดับเดียวกันกับ พี/อี เรโช ของพวกหุ้นในดัชนี เอสแอนด์พี 500 โดยองค์รวม อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้มันหล่นกลับลงมาอยู่ในระดับแค่ครึ่งเดียวอีกครั้งหนึ่งแล้ว นี่มันสมเหตุสมผลหรือไม่?
การประมาณการที่กระทำโดย เดวิด คาห์น (David Cahn) แห่ง (บริษัทเวนเจอร์แคปิตอล) ซีคอยอา (Sequoia) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง เสนอแนะว่ารายรับจาก large language models (LLMs) ต้องทำได้ถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีทีเดียว จึงจะสามารถเป็นเหตุผลสมควรแก่การรองรับการลงทุนอย่างมหาศาลในด้านซอฟต์แวร์, ชิป, และ ศูนย์ข้อมูล ซึ่งมุ่งอุทิศให้แก่ เอไอ ที่กำลังกระทำกันอยู่ในเวลานี้
ขณะเดียวกัน OpenAI กำลังทำรายได้ 3,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทว่าตามตัวเลขของ ดิ อิมฟอร์เมชั่น (The Information) กำลังขาดทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี การที่จะสามารถยอมรับรายได้ที่น่าหัวเราะเยาะของพวกผู้ให้บริการ LLM ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากการลงทุนด้านเงินทุนอย่างมหาศาลเช่นนี้ จำเป็นจะต้องมีความศรัทธาเชื่อถือที่อธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ยาก
พวกหุ้นของบริษัทเทคคือผู้ที่แบกรับผลกระทบอันหนักหน่วงจากการเทขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯคราวนี้ พวกนักลงทุนกำลังมีความวิตกกังวลว่า ในที่สุดแล้วฟองสบู่ เอไอ อาจจะมีความน่าสังเวชพอๆ กับฟองสบู่หุ้นบริษัทดอตคอมในยุคทศวรรษ 1990 ก็เป็นได้ โดยที่ต้องไม่ลืมว่าในครั้งนั้นมันนำไปสู่ระยะเวลา 1 ทศวรรษแห่งความสูญเสียผลตอบแทนสำหรับพวกนักลงทุนในหุ้นเทคเลยทีเดียว