ทางการเกาหลีใต้ใช้สุนัขดมกลิ่นหา “ตัวเรือด” (bedbug) ในสัมภาระของผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการนำเข้าแมลงรบกวนชนิดนี้ในระหว่างที่นักกีฬา เจ้าหน้าที่ และบรรดาแฟนกีฬาทยอยเดินทางกลับจากโอลิมปิกที่กรุงปารีส
ภารกิจสำคัญระดับชาตินี้ตกเป็นหน้าที่ของเจ้าเซโก้ (Ceco) สุนัขสายพันธุ์บีเกิลซึ่งบริษัทกำจัดแมลง Cesco ระบุว่า เป็นสุนัขตัวแรกและตัวเดียวในเกาหลีใต้ที่ผ่านการฝึกให้ดมหากลิ่นฟีโรโมน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวเรือด
คิม มินซู พนักงานจากบริษัทแห่งนี้ระบุว่า เซโก้สามารถสำรวจหาตัวเรือดภายในห้องพักโรงแรมขนาดมาตรฐานได้เสร็จภายในเวลาเพียง 2 นาที
บริษัทกำจัดแมลงแห่งนี้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงความปลอดภัยและกระทรวงคมนาคมแห่งเกาหลีใต้ ตลอดจนสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค สายการบินต่างๆ และท่าอากาศยานอินชอน เพื่อสกรีนผู้โดยสารขาเข้าที่มีความเสี่ยงนำเข้าตัวเรือดมายังแดนโสมขาว
ปีที่แล้วกรุงปารีสของฝรั่งเศสได้ดำเนินโครงการกำจัดตัวเรือดก่อนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ด้วยความกังวลว่าแมลงกินเลือดชนิดนี้อาจจะสร้างความปั่นป่วนให้เกมกีฬาระดับโลก
“เนื่องจากมีผู้คนจากทั่วโลกไปรวมตัวกันที่ปารีส ฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 จึงมีโอกาสที่ตัวเรือดจะถูกนำเข้ามาในประเทศของเราหลังการแข่งขันจบลง” จดหมายข่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุ
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้าเพื่อสกัดการนำเข้าผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน ซึ่งถือเป็นประตูหลักของเกาหลีใต้”
เซโก้และทีมงานเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาตัวเรือดตามสัมภาระของผู้โดยสารขาเข้าตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ส.ค.) หลังนักกีฬาและเจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากกรุงปารีส และจะยังคงปฏิบัติงานนี้ต่อไปจนถึงวันที่ 8 ก.ย.
เกาหลีใต้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิกปารีส 2024 ร่วมทั้งสิ้น 144 คน
เที่ยวบินตรงจากกรุงปารีสสู่เกาหลีใต้จะถูกฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับความถี่ 1 ครั้งต่อเดือนในช่วงเวลาปกติ นอกจากนี้ ด่านกักกัน (quarantine service) ภายในสนามบินอินชอนก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองได้ทันที หากพบการระบาดของตัวเรือดบนเครื่องบินหรือภายในสนามบิน
เกาหลีใต้เองเคยเผชิญความโกลาหลจากวิกฤตตัวเรือดมาแล้วในช่วงปี 2023 หลังมีรายงานพบการแพร่ระบาดตามอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก โรงแรม และห้องอาบน้ำรวมที่เรียกว่า jjimjilbang จนภาครัฐต้องทำแคมเปญรณรงค์กำจัดตัวเรือดอย่างขนานใหญ่
ที่มา : รอยเตอร์