รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - แนวประการังใหญ่ที่สุดในโลก เกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของออสเตรเลียกำลังตกอยู่ในอันตรายจากน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 400 ปี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นยอมรับสุดเศร้า “โลกกำลังสูญเสียหนึ่งในแลนด์มาร์กไป” อึ้งมากมีถึง 54 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้วพบแนวปะการังของประเทศตัวเองตายเป็นจำนวนมากจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
รอยเตอร์รายงานวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. ว่า โลก เดอะเกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ถือเป็นระบบนิเวศที่มีชีวิตใหญ่ที่สุดในโลกมีขนาดความยาว 2,400 กม. ขนาดใหญ่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของรัฐควีนสแลนด์
แนวปะการังเดอะเกรทแบร์ริเออร์รีฟนั้นสามารถสร้างรายได้ให้ออสเตรเลียจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การประมงและอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ( ฝ4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อ้างอิงจากรายงานปี 2017ของ Deloitte Access Economics analysis ตามการรายงานของบลูมเบิร์ก
เดอะเกรทแบร์ร์เออร์รีฟที่ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกขององค์การยูเนสโกนั้นปัจจุบันยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ใน 'บัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย' ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะแนะนำก็ตาม
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนล่าสุดว่า แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้น (Existential threat) หลังจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) เกิดขึ้นบ่อยครั้งหากว่ามหาสมุทรยังคงอุ่นขึ้นในอัตฝตราในปัจจุบัน
บลูมเบิร์กรายงานว่า ทะเลคอรัล (Coral Sea) ถูกพบร้อนจัดเมื่อไม่กี่ปีมานี้โดยที่มีความร้อนสูงสุดอยู่ที่ปีนี้และในปี 2017 และปี 2020 ได้รับการประเมินว่าอยู่ในภาวะ ‘อุ่นที่สุด’ ในรอบไม่ต่ำกว่า 4 ศตวรรษ อ้างอิงจากการวิจัยที่มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งของออสเตรเลียซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่วันพฤหัสบดี (8)
เบนจามิน เฮนลีย์ (Benjamin Henley) นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และยังเป็น 1 ในผู้แต่งร่วมของผลงานวิจัยแสดงความเห็นว่า “โลกกำลังสูญเสียหนึ่งในแลนด์มาร์กของตัวเองไป”
และกล่าวแสดงความเห็นว่า “ผมค้นพบว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมโดยสมบูรณ์แบบ มันยากที่จะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นภายใต้การเฝ้าดูของพวกเราในช่วงชีวิตของพวกเราได้อย่างไร มันช่างเป็นสิ่งที่น่าเศร้าเอามากๆ”
ข้อมูลอุณหภูมิล่าสุดตั้งแต่มกราคมไปจนถึงมีนาคมของปีนี้เกิดขึ้นสูงสุดตามการบันทึก นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียชี้
รอยเตอร์รายงานว่า ตามปกติแล้ว แนวปะการัง (coral reefs) ช่วยปกป้องแนวชายฝั่งจากการสึกกร่อนและยังเป็นบ้านที่อาศัยของปลาหลากหลายพันธุ์สายพันธุ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสร้างรายได้ให้ประเทศต่างๆ มากมาย
รอยเตอร์ระบุว่า มีไม่ต่ำกว่า 54 ประเทศและภูมิภาคประสบปัญหาภาวะปะการังฟอกขาวในแนวปะการังของประเทศเหล่านั้นนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ปี 2023 จากการที่สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงทำให้น้ำทะเลพื้นผิวของมหาสมุทรอุ่นขึ้น องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ NOAA (U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration) กล่าว
ด้าน ลิสซา ชินด์เลอร์ (Lissa Schindler) ผู้จัดการโครงการ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ประจำมูลนิธิอนุรักษ์ทางทะเลออสเตรเลีย AMCS (Australian Marine Conservation Society) กล่าวว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แคนเบอร์ราจำเป็นต้องทำให้มากกว่านี้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง
“ออสเตรเลียต้องเพิ่มความทะเยอทะยานของตัวเอง การปฏอบัติ และข้อผูกพันในการต่อสู้กัยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและปกป้องทรัพย์สินทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของพวกเรา”
AMCS เป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไรของออสเตรเลีย มีเป้าหมายเพื่อปกป้องชีวิตสัตว์น้ำในมหาสมุทรและระบบนิเวศมหาสมุทร อ้างอิงจากเว็บไซต์ทางการขององค์กร