xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่งรู้ตัว! อดีตนายกรัฐมนตรีครวญ ออสเตรเลียกำลังกลายเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ กำลังล้อมกรอบออสเตรเลียด้วยฐานทัพทหารภายใต้ข้อตกลง AUKUS ซึ่งบ่อนทำลายอธิปไตยของประเทศ และทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นเป้าหมายโดยชอบธรรมของจีน จากเสียงคร่ำครวญของอดีตนายกรัฐมนตรีพอล คีทติ้ง

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์เมื่อวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) คีทติ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1991 ถึง 1996 ส่งเสียงแสดงความเคลือบแคลงต่อผลประโยชน์ที่ประเทศของเขาจะได้รับจากการเป็นสมาชิกของ AUKUS ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงฉบับประวัติศาสตร์ ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ซึ่งมีขึ้นในปี 2021 ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งถูกจีนประณามมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือ ออสเตรเลีย จัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

คีทติ้ง ชี้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะตามมาด้วยการที่สหรัฐฯ "เข้ามาประจำการแทนที่ทหารของเรา และล้อมกรอบประเทศของเราด้วยฐานทัพต่างๆ แคนเบอร์ราจำเป็นต้องสละสิทธิในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศและกลาโหมของตนเอง และผลก็คือออสเตรเลียจะสูญเสียความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์โดยสิ้นเชิง"

"นี่คือความเป็นจริงเกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS ในแง่ของสหรัฐฯ มันคือการควบคุมออสเตรเลียในด้านการทหาร" คีทติ้งกล่าว พร้อมระบุ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบาเนซี "มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนออสเตรเลีย กลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

อดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ระบุต่อว่า การยกระดับการปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ ส่งผลให้ออสเตรเลียตกเป็นเป้าหมายจากมุมมองของจีน "ตอนนี้เราต้องปกป้องข้อเท็จจริงที่ว่า เราอยู่ใน AUKUS ถ้าเราไม่มีพันธมิตรที่ก้าวร้าวอย่างเช่นสหรัฐฯ ก้าวร้าวใส่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็คงไม่มีใครโจมตีออสเตรเลีย มันจะดีกว่าหากเราอยู่ตามลำพัง"

คีทติ้ง ให้ความเห็นต่อว่า สหรัฐฯ พยายามอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวก็เพื่อควบคุมจีน ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจโหมกระพือดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ต่อประเด็นเกาะปกครองตนเองไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

อย่างไรก็ตาม คีทติ้ง ชี้ว่าสถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวัน "ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ กับผลประโยชน์ของออสเตรเลียเลย" ขณะที่จีนเองก็ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์โดยตรงกับออสเตรเลีย ทั้งนี้ทัศนคติของสหรัฐฯ ที่มีกับไต้หวัน สามารถเปรียบได้กับครั้งที่ จีน ตัดสินใจว่ารัฐแทสเมเนีย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือแยกตัวออกจากออสเตรเลีย

ความเห็นของ คีทติ้ง มีขึ้นหลังจาก ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียและ เพนนี่ หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เดินทางไปยังวอชิงตัน เพื่อพุดคุยเกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS และหารือเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ในการส่งมอบวัสดุนิวเคลียร์แก่แคนเบอร์รา ส่วนหนึ่งในแรงผลักดันต้องการมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ประกอบเองในประเทศ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป

จีน เคยส่งเสียงเตือนว่าข้อตกลง AUKUS เพิ่มความเสี่ยงแพร่กระจายทางนิวเคลียร์ และรู้สึกว่าเวลานี้โลกกำลังอยู่ใน "แนวคิดแบบสงครามเย็น ซึ่งรังแต่จะก่อแรงจูงใจแข่งขันทางอาวุธ" ขณะที่รัสเซียก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกเช่นกัน โดยยืนกรานว่ามันไม่ควรมีที่ว่างสำหรับ "พันธมิตรใกล้ชิดทางทหารและทางการเมือง"

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น