xs
xsm
sm
md
lg

'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3' ทรงเรียกร้อง ‘ความสามัคคี-เข้าใจกันในชาติ’ หลังเกิดเหตุจลาจลต้านผู้อพยพในอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษทรงมีพระราชดำรัสเรียกร้องขอให้คนอังกฤษมีความเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกัน ภายหลังเหตุจลาจลต่อต้านผู้อพยพและเหยียดชาวมุสลิมแผ่ลามไปทั่วประเทศ

โฆษกสำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงวานนี้ (9 ส.ค.) ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงขอบใจตำรวจ และหน่วยบริการฉุกเฉินที่พยายามฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และทรงยินดีที่เห็นว่าชุมชนต่างๆ “พยายามช่วยกันต่อต้านความรุนแรงก้าวร้าวและการก่ออาชญากรรมโดยคนส่วนน้อย”

“พระองค์ทรงหวังว่าค่านิยมแห่งการเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกันจะยังช่วยให้คนในชาติมีความเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกันต่อไป”

โฆษกสำนักพระราชวังระบุด้วยว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ และเหล่าผู้บัญชาการตำรวจอังกฤษผ่านทางโทรศัพท์ด้วย

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตั้งมูลนิธิ The Prince’s Trust ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งได้มีส่วนช่วยเหลือคนหนุ่มสาวราว 1 ล้านคนให้มีงานทำ รวมถึงริเริ่มโครงการต่างๆ ในชุมชนที่ยังคงทำงานต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงในบางชุมชนที่เกิดเหตุจลาจลต่อต้านผู้อพยพขึ้น

ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษหลายพันนายเตรียมความพร้อมรับมือเหตุรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นอีก หลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลายความตึงเครียดลงในช่วง 3 วันที่ผ่านมา

เหตุจลาจลครั้งใหญ่นี้มีชนวนเหตุสำคัญมาจากการแพร่ข้อมูลเท็จลงสื่อออนไลน์เกี่ยวกับตัวตนของวัยรุ่นซึ่งไปก่อเหตุใช้มีดแทงเด็กผู้หญิง 3 คนเสียชีวิตในคลาสสอนเต้นและโยคะที่เมืองเซาท์พอร์ต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยโพสต์เหล่านั้นอ้างว่ามือมีดเป็นผู้อพยพชาวมุสลิม

อย่างไรก็ตาม ต่อมาตำรวจอังกฤษได้เปิดเผยตัวตนของผู้ก่อเหตุว่าชื่อ อาเซล มูกันวา รูดาคูบานา (Axel Muganwa Rudakubana) อายุ 17 ปี เป็นลูกหลานผู้อพยพจากรวันดาแต่เกิดที่เมืองคาร์ดิฟฟ์เมื่อปี 2006 ก่อนจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่เซาท์พอร์ตในช่วงปี 2013 และที่สำคัญคือครอบครัวของเขาไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นชาวคริสต์

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาออกกฎคุมเข้มแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

หลังมีผู้ประท้วงก่อเหตุโจมตีชาวมุสลิมและโรงแรมซึ่งเป็นที่พักของผู้อพยพ สตาร์เมอร์ ยืนยันว่ารัฐบาลของเขาได้เสริมกำลังตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อย และเร่งนำตัว “พวกอันธพาลขวาจัด” เหล่านี้มาดำเนินคดี

ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวเริ่มมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านผู้อพยพในหลายสถานที่ทั่วอังกฤษ

จนถึงค่ำวันศุกร์ (9) มีผู้ประท้วงถูกจับแล้วรวมทั้งสิ้น 741 คนนับตั้งแต่เหตุจลาจลเริ่มปะทุขึ้น และตำรวจได้ตั้งข้อหาแล้ว 302 คน ในจำนวนนี้มี 2 คนที่ถูกตัดสินจำคุกฐานปลุกปั่นความเกลียดชังทางเชื้อชาติลงโซเชียลมีเดีย ขณะที่ตำรวจคาดว่าการจับกุมผู้กระทำความผิดอาจดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น