xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! เครื่องบินบราซิล ‘หมุนติ้ว’ ก่อน ‘โหม่งโลก’ กลางชุมชนในเซาเปาลู-ดับยกลำ 61 ศพ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินพาณิชย์ของบราซิลตกใส่ย่านชุมชนในรัฐเซาเปาลูของบราซิลเมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตยกลำ 61 ศพ

สายการบิน Voepass แถลงว่า เครื่องบินรุ่น ATR-72 ลำนี้ออกเดินทางจากเมืองกัสกาเวล (Cascavel) ในรัฐปารานา เพื่อมุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเซาเปาลู ก่อนจะประสบอุบัติเหตุตกเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองวินเฮโด (Vinhedo) ซึ่งอยู่ห่างจากเซาเปาลูไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กิโลเมตร

จากคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ลงโซเชียลมีเดียจะเห็นว่าเครื่องบินลำนี้สูญเสียการควบคุมและหมุนคว้างกลางอากาศ ก่อนจะร่วงตกลงที่ดงไม้ใกล้ๆ กับชุมชนแห่งหนึ่งโดยมีกลุ่มควันสีดำขนาดใหญ่ลอยขึ้นมา

ดาเนียล เดอ ลิมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ เล่าว่าเขาได้ยินเสียงดังสนั่นก็เลยออกมายืนดูที่หน้าต่างคอนโดมิเนียมในเมืองวินเฮโด และเห็นว่าเครื่องบินลำนี้หมุนคว้างในลักษณะแนวนอน (horizontal spin)

“มันหมุนคว้าง แต่ไม่พุ่งไปข้างหน้า” เขาอธิบายกับรอยเตอร์ “หลังจากนั้นไม่นานก็ร่วง แล้วก็เกิดการระเบิด”

เจ้าหน้าที่ประจำเมืองวาลิงโงส (Valinhos) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวินเฮโด ระบุว่ามีคอนโดมิเนียมหลังหนึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากเครื่องบินตกลงใส่สวนด้านหลัง ทว่าไม่มีผู้อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บ

อาการหมุนคว้างของเครื่องบินก่อนที่จะตกลงสู่พื้นสร้างความแปลกประหลาดใจในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน โดยบางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจาก “น้ำแข็ง” เกาะบนเครื่อง หรือไม่ก็เครื่องยนต์ล้มเหลว แต่พนักงานสอบสวนชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุที่แน่ชัด

“วันนี้มีพยากรณ์ว่าจะเกิดน้ำแข็ง (ในระดับความสูงที่เครื่องบินบินอยู่) แต่อยู่ในระดับที่พอรับได้” มาร์เซล มูรา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Veopass แถลงต่อสื่อมวลชน “แต่เครื่องบินลำนี้ก็ค่อนข้างเซนซิทีฟกับน้ำแข็ง มันจึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้น (ของโศกนาฏกรรม)”

อย่างไรก็ตาม มูรา ยืนยันว่า ระบบละลายน้ำแข็ง (de-icing system) และกลไกอื่นๆ ของเครื่องบินได้รับการตรวจสอบแล้วว่าทำงานได้ปกติ ก่อนที่เครื่องจะออกเดินทาง

เซลโซ ฟาเรีย เดอ ซูซา วิศวกรการบินและพนักงานสอบสวนด้านอุบัติเหตุทางการบิน ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า การก่อตัวของน้ำแข็งอาจเป็นสาเหตุทำให้เครื่องบินสูญเสียแรงยก (stall) และหมุนคว้างในแนวนอนแบบที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ เคยมีเครื่องบิน ATR-72 ประสบอุบัติเหตุตกที่รัฐอินดีแอนาของสหรัฐฯ ในปี 1994 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 68 คน หลังจากที่เครื่องบินไม่สามารถตีวงเลี้ยว (bank) ได้เนื่องจากมีน้ำแข็งเกาะที่เครื่อง และต่อมาในปี 2016 เครื่องบิน ATR-72 อีกลำที่นอร์เวย์ก็เผชิญปัญหาน้ำแข็งเกาะจนทำให้สูญเสียแรงยกเช่นกัน แต่โชคดีที่นักบินสามารถแก้สถานการณ์ได้ทัน

หัวหน้าศูนย์ตรวจสอบอุบัติเหตุทางการบินแห่งบราซิล (Cenipa) ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ “กล่องดำ” ซึ่งมีทั้งกล่องบันทึกข้อมูลการบินและกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินได้แล้ว และอยู่ระหว่างนำไปตรวจสอบ

ที่มา : รอยเตอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น