ญี่ปุ่นเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกในการออกคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ "แผ่นดินไหวใหญ่" ในอนาคตอันใกล้นี้
คำเตือนที่ประกาศเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น แจ้งให้ประชาชนอยู่ในภาวะตื่นตัว แต่ไม่ถึงขั้นต้องอพยพ พร้อมเน้นย้ำคำเตือนนี้ไม่ได้หมายความว่าแผ่นดินไหวใหญ่ใกล้เกิดขึ้นแล้ว แต่มีความเป็นไปได้สูงกว่าปกติ
ประกาศเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.1 สั่นสะเทือนนอกเกาะคิวชู ทางใต้ของประเทศ แต่ไม่มีรายงานความเสียหายใหญ่ใดๆ
อย่างไรก็ตาม มันทำให้พวกผู้เชี่ยวชาญเฝ้าระวังขั้นสูง สืบเนื่องจากศูนย์กลางของมัน เกิดขึ้นบริเวณริมรอยเลื่อนนันไค (Nankai Trough) พื้นที่ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ทอดยามไปตามชายฝั่งแปซิฟิกของญี่ปุ่น
รอยต่อของแผ่นธรณีดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างอ่าวสุรูกะ ทางภาคกลางของญี่ปุ่น และทะเลฮิวกะนาดะ ในแถบเกาะคิวชู ไปจนถึงทางใต้
ก่อนหน้านี้แผ่นดินไหวต่างๆ ที่เกิดจากรอยเลื่อนนันไค ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายพันราย แผ่นดินไหวใหญ่เหล่านี้มักเกิดขึ้นในทุก 90 ปี ถึง 200 ปี โดยหนสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1946
ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดนิวส์ ระบุพวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีโอกาส 70% ถึง 80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ระดับ 8 หรือ 9 เล่นงานที่ไหนสักแห่งบริเวณรอยเลื่อนดังกล่าวในช่วง 30 ปีข้างหน้า และจากการคาดการณ์ในกรณีเลวร้ายสุดบ่งชี้ว่าอาจมีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวดังกล่าวและความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิตามมามากกว่า 200,000 คน
ระหว่างการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (8 ส.ค.) ชินยะ สึคาดะ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น เน้นย้ำว่า "มีโอกาสค่อนข้างสูงของการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่อีกครั้ง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ" แต่พวกเขาไม่ได้ชี้ชัดถึงช่วงเวลาที่ชัดเจน
(ที่มา : บีบีซี)