มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานจัดตั้ง “ธนาคารคนจน” ซึ่งช่วยให้คนจนนับล้านๆ ได้รับเงินกู้ช่วยให้ลืมตาอ้าปาก ตอบรับเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราวบังกลาเทศ โดยที่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารของประเทศเห็นชอบแล้ว ขณะที่รอยเตอร์รายงานว่า สาเหตุที่อดีตนายกรัฐมนตรีชัยค์ ฮาสินา ยอมลาออกและผลุนผลันหนีออกนอกประเทศ เป็นเพราะได้รับแจ้งอย่างชัดเจนว่า กองทัพจะไม่สนับสนุนอีกต่อไป
การแต่งตั้งยูนุส วัย 84 ปี เจ้าของรางวัลโนเบล จากผลงานเป็นผู้บุกเบิกไมโครไฟแนนซ์ หรือระบบการปล่อยสินเชื่อรายย่อยสำหรับคนยากจน ที่กลายเป็นต้นแบบของ “ธนาคารคนจน” ในประเทศจำนวนมากทั่วโลกนั้น เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน หารือกับผู้นำเหล่าทัพและพวกผู้นำนักศึกษาในวันอังคาร (6 ส.ค.) รวมทั้งประธานาธิบดีใช้อำนาจประกาศยุบสภาตามที่ผู้นำนักศึกษาและฝ่ายค้านใหญ่ของประเทศ คือพรรค บังกลาเทศ เนชันแนล ปาร์ตี้ (บีเอ็นพี) เรียกร้อง
คำแถลงสำนักประธานาธิบดีระบุว่า ที่ประชุมตกลงจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยมี ยูนุส เป็นผู้นำด้วยตำแหน่งประธานที่ปรึกษา และสำทับว่า การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวมีความจำเป็นเพื่อรับมือคลี่คลายวิกฤตการณ์คราวนี้
ทางด้านยูนุสที่ยังอยู่ระหว่างรักษาตัวในยุโรป แถลงตอบรับว่า เพื่อประเทศชาติและประชาชนที่กล้าหาญ เขายินดีเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว พร้อมกับเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีต่อไป
นอกจากการยุบสภาและแต่งตั้งยูนุสตามที่นักศึกษาเรียกร้องแล้ว ยังมีการปลดผู้บัญชาการตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้นำการปราบปรามผู้ประท้วง ขณะที่กองทัพลดยศนายพลหลายคนที่ใกล้ชิดกับฮาสินา รวมทั้งปลด เซีย อุล อาซาน ผู้บังคับการกองพันเคลื่อนที่เร็วซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร และถูกประณามว่ามีบทบาทสำคัญในการเล่นงานผู้ประท้วง
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพุธ (7) รอยเตอร์ได้เผยแพร่รายงานพิเศษซึ่งอ้างอิงการเปิดเผยของทหาร 2 นายที่เล่าว่า คืนก่อนที่ฮาสินาวัย 76 ปี ที่ขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2009 จะผลุนผลันบินออกจากบังกลาเทศไปยังอินเดียนั้น พลเอกวาเคอร์ อุซ ซามาน ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประชุมออนไลน์กับทหารระดับนายพลหลายคนและตัดสินใจว่า กองทัพจะไม่ยิงใส่พลเรือนเพื่อบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิวแบบไม่มีกำหนดเวลาที่รัฐบาลประกาศออกมา
จากนั้น วาเคอร์เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อแจ้งกับฮาสินาว่า ทหารไม่สามารถล็อกดาวน์ตามที่นายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้ต้องการ ซึ่งตีความชัดเจนได้ว่า ฮาสินาไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอีกต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศหลังจากมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนจากการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล รวมทั้งการปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงเมื่อวันอาทิตย์ (4) ซึ่งถือเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับจากที่นักศึกษาเป็นแกนนำการประท้วงต่อต้านฮาสินาตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา จากความไม่พอใจที่รัฐบาลสงวนโควตาตำแหน่งงานรัฐไว้ให้คนบางกลุ่ม ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้ลาออก
รอยเตอร์ยังพูดคุยกับแหล่งข่าว 10 คนที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อปะติดปะต่อสถานการณ์ในช่วง 48 ชั่วโมงสุดท้ายของฮาสินาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่า กองทัพบังกลาเทศส่งสัญญาณครั้งแรกว่า จะไม่ปราบปรามผู้ประท้วงตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (3 ) ที่วาเคอร์ฟิวประกาศระหว่างประชุมกับทหารหลายร้อยนายว่า กองทัพจำเป็นต้องปกป้องชีวิตประชาชน และขอให้ทหารใช้ความอดกลั้น ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ ซามี อัด ดาวลา โชว์ดรี โฆษกกองทัพบก
ต่อมาในวันจันทร์ (5) ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง ฮาสินาเก็บตัวอยู่ในทำเนียบที่พักกลางกรุงธากาท่ามกลางการอารักขาแน่นหนา ขณะที่ฝูงชนมากมายแออัดบนถนนเรียกร้องให้เจ้าตัวลาออก และเมื่อสถานการณ์เกินการควบคุม ฮาสินาพร้อมพี่สาวตัดสินใจขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทหารหนีไปอินเดียในช่วงเช้าวันจันทร์
ทางด้านอินเดีย รัฐมนตรีต่างประเทศ เอส. ชัยศังกระ แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลได้รับการติดต่ออย่างกะทันหันจากฮาสินาที่ขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่แหล่งข่าวในอินเดียอีกคนสำทับว่า นิวเดลีแจ้งฮาสินาว่า ควรพำนักอยู่ในอินเดียชั่วคราวเท่านั้นเนื่องจากเกรงว่า จะกระทบความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ของบังกลาเทศ
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)