xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดีบังกลาเทศประกาศยุบสภา ขณะผู้นำนศ.ชู‘มูฮัมหมัด ยูนุส’ เจ้าของไอเดีย ‘ธนาคารคนจน’ ขึ้นเป็นผู้นำรบ.ชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนมุงดูสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศที่อยู่ในสภาพเสียหายหนักในวันอังคาร (6 ส.ค.) ภายหลังถูกพวกผู้ประท้วงบุกจุดไฟเผาด้วยความโกรธแค้นเมื่อวันจันทร์ (5)
ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ของบังกลาเทศ ประกาศยุบสภาเมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.) หรือหนึ่งวันหลังจากที่นายกรัฐมนตรีชัยค์ ฮาสินา ลาออกและเผ่นหนีไปอินเดีย ขณะที่ผู้นำนักศึกษาในบังกลาเทศเรียกร้องให้แต่งตั้ง มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล รับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลชั่วคราว ล่าสุด เจ้าตัวประกาศพร้อมที่จะรับงาน

ฮาสินา วัย 76 ปี ขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2009 แต่ถูกกล่าวหาการบริหารของเธอเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ถูกฝ่ายค้านสำคัญบอยคอตต์ไม่เข้าร่วม จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้วชาวบังกลาเทศนับล้านรวมพลังลงสู่ถนนจากความไม่พอใจที่รัฐบาลสงวนโควตาตำแหน่งงานรัฐไว้ให้คนบางกลุ่ม และจากนั้นก็พัฒนาเป็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้ลาออกจากตำแหน่ง

ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนหลายร้อยคนเสียชีวิตจากการประท้วงรัฐบาลโดยฝีมือกองกำลังความมั่นคงที่พยายามสลายม็อบ โดยเฉพาะเมื่อวันอาทิตย์ (4) ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้ถูกสังหารไปเกือบร้อยคน แม้รัฐบาลใช้วิธีประกาศเคอร์ฟิวส์ แต่ฝูงชนผู้ประท้วงกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น และสุดท้ายฮาสินาต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทหารหนีออกนอกไปยังอินเดียเมื่อวันจันทร์ (5) หลังจากกองทัพหันหลังให้

พลเอกวาเคอร์ อุซ ซามาน ผู้บัญชาการทหารบก ปราศรัยทางทีวีของรัฐเมื่อบ่ายวันจันทร์ภายหลังฮาสินาออกนอกประเทศว่า กองทัพจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และยอมรับว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยุติความรุนแรง

ต่อมาในวันอังคาร ประธานาธิบดีได้ประกาศยุบสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของเหล่าผู้นำนักศึกษาและพรรคฝ่ายค้านใหญ่ บังกลาเทศ เนชันแนล ปาร์ตี้ (บีเอ็นพี)

ทั้งนี้ คาดว่า วาเคอร์จะพบกับผู้นำนักศึกษาในวันอังคารเพื่อรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเขาที่จะให้ ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกไมโครไฟแนนซ์ หรือระบบการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ที่กลายเป็นต้นแบบของ “ธนาคารคนจน” ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว

ทางด้านยูนุส ซึ่งปัจจุบันอายุ 84 ปี และมีรายงานว่าเวลานี้อยู่ที่กรุงปารีส ได้ส่งคำแถลงถึงสำนักข่าวเอเอฟพี ซึ่งสอบถามเรื่องเสียงเรียกร้องของพวกนักศึกษาที่ต้องการให้เขาเป็นผู้นำของรัฐบาลชั่วคราว โดยระบุว่า “ถ้าหากจำเป็นต้องมีการปฏิบัติการในบังกลาเทศแล้ว เพื่อประเทศชาติของผม และเพื่อความกล้าหาญของประชาชนของผม ผมก็จะยอมรับมัน”

ที่ผ่านมา ผลงานเรื่องสินเชื่อรายย่อยของยูนิส ได้รับเครดิตว่ากำลังยกระดับผู้คนเป็นล้านๆ ให้พ้นจากภาวะยากจน และได้รับความเคารพจากกว้างขวางจากประชาชนชาวบังกลาเทศ ทว่ากลับทำให้เขากลายเป็นศัตรูของนายกฯฮาสินา

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีบังกลาเทศยังแถลงว่า คาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคบีเอ็นพี ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน

เซีย วัย 78 ปี ที่ปัจจุบันสุขภาพอ่อนแอ ถูกฮาสินาซึ่งเป็นศัตรูสำคัญ กล่าวหาว่า ทุจริตคอร์รัปชั่นและถูกกักตัวมาอย่างยาวนาน

มีรายงานว่าในวันอังคาร (6) ถนนสายต่างๆ ในกรุงธากากลับคืนสู่ความสงบเป็นส่วนใหญ่ และร้านค้าเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้ง แม้ที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งยังคงปิดทำการ

ตรงกันข้ามกับเมื่อวันจันทร์ (5) ที่ผู้คนนับล้านร่วมกันฉลองเต็มท้องถนน หลังการปราศรัยของวาเคอร์เมื่อวันจันทร์ พร้อมกันนั้นก็มีฝูงชนกลุ่มใหญ่กรูกันเข้าไปทำลายและปล้นข้าวของในทำเนียบที่พักของฮาสินา

นอกจากนั้นยังมีรายงานจากตำรวจว่า ผู้ประท้วงโจมตีล้างแค้นเหล่าพันธมิตรของฮาสินาและตำรวจ ความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตไปในวันจันทร์วันเดียวอย่างน้อย 122 คน

รายงานระบุว่า ผู้ประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา เผาสถานีทีวีหลายแห่ง บางกลุ่มทุบทำลายรูปปั้นของ ชัยค์ มูจิบูร์ เราะห์มาน บิดาของฮาสินา ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ประกาศเอกราชของบังกลาเทศ

พิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้แก่อดีตผู้นำผู้นี้ยังถูกเผา ขณะที่ธุรกิจและบ้านของชาวฮินดูซึ่งถูกมองว่า ใกล้ชิดกับฮาสินาถูกโจมตีเช่นเดียวกัน

สหภาพตำรวจสำคัญเผยว่า สมาชิกประกาศหยุดงานจนกว่าความปลอดภัยของตำรวจทุกคนจะได้รับการรับประกัน แต่ขณะเดียวกันก็ขอโทษสำหรับการดำเนินการกับผู้ประท้วงในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับชะตากรรมของฮาสินานั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทหารหนีไปอินเดียเมื่อวันจันทร์ โดยแหล่งข่าวคนหนึ่งเปิดเผยว่า ฮาสินาต้องการเดินทางไปลอนดอน แต่เริ่มลังเลหลังจากรัฐบาลอังกฤษเรียกร้องให้สหประชาชาติ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์รุนแรง “ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ในบังกลาเทศ

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น