xs
xsm
sm
md
lg

ยังต้องลุ้น! ผู้เชี่ยวชาญชี้ตลาดหุ้นล่มทั่วโลกรอบล่าสุด สะท้อนความกังวลศก.อเมริกา-นโยบายเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เทรดเดอร์นั่งทำงานด้วยความเคร่งเครียด ณ ที่ทำการของเขาบนฟลอร์ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในวันจันทร์ (5 ส.ค.) เมื่อแทบทุกๆ อย่างในตลาดวอลล์สตรีทกำลังดิ่งฮวบเนื่องจากความกลัวที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวอยู่แล้วนั้นจะย่ำแย่ยิ่งขึ้นไปอีก
ดัชนีนิกเกอิของตลาดหลักทรัพย์โตเกียวดีดกลับขึ้นมาอย่างแรงถึงกว่า 10% ในวันอังคาร (6 ส.ค.) หลังจากไหลรูดอย่างน่ากลัวเมื่อ 1 วันก่อนซึ่งฉุดตลาดหุ้นในยุโรปรวมถึงวอลล์สตรีทเทกระจาดในวันจันทร์ (5) กูรูชี้สถานการณ์นี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาและนโยบายดอกเบี้ยของเฟด ตลอดจนถึงความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีเอไอที่ดันราคาหุ้นบิ๊กเทคพุ่งโด่งเกินจริงไปเยอะ

วันจันทร์สุดสยองของตลาดการเงิน 5 ส.ค. 2024 เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่หุ้นในประเทศต่างๆ แถบเอเชียดิ่งลงแรงทั่วหน้าจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในอเมริกา จนชวนผวาให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งฮวบเมื่อปี 1987

ตอนปิดตลาดวันจันทร์ ดัชนีหุ้นนิกเคอิ 225 ที่เป็นมาตรวัดสำคัญของตลาดโตเกียว ดิ่งลง 12.4% หรือ 4,451.28 จุด มาอยู่ที่ 31,458.42 ถือเป็นตัวเลขจุดที่ลงต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดนี้ และพลอยทำให้ตลาดแถบยุโรป ตลอดจนตลาดวอลล์สตรีทในวันเดียวกันย่ำแย่ไปด้วย โดยที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับลดลง 3% ปิดที่ 5,186.33 ทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตก 1,033 จุด หรือ 2.6% อยู่ที่ 38,703.27 ส่วนดัชนีแนสแด็กร่วง 3.4% อยู่ที่ 16,200.8 โดยเฉพาะหุ้นแอปเปิล เอ็นวีเดีย และบิ๊กเทคอื่นๆ ที่เคยเป็นดาวเด่นในตลาดหุ้นต่างอยู่ในอาการโงหัวไม่ขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันอังคาร (6) ดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นดีดกลับอย่างแรงเกือบ 11% ในช่วงเช้า และตอนปิดตลาดยังคงบวก 10.2% หรือ 3,217.04 จุด อยู่ที่ 34,675.46

ราคาหุ้นที่ดิ่งลงในวันจันทร์ถูกมองเป็นกระแสการเทขายทั่วโลกระลอกล่าสุดที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งถือเป็นโอกาสแรกที่เทรดเดอร์ในโตเกียวได้แสดงปฏิกิริยาต่อรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ (2 ส.ค.) ที่ระบุว่า ชะลอตัวเกินความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นข้อมูลล่าสุดที่ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจอเมริกาอ่อนแอเกินคาด ตอกย้ำความกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจพลาดพลั้งแตะเบรกขวางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้นานเกินไป ด้วยการคงอัตราการเบี้ยสูง เนื่องจากห่วงจะต้องจัดการภาวะเงินเฟ้อก่อน

นอกจากนั้น นักลงทุนมืออาชีพตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีปัจจัยทางเทคนิคบางอย่างที่ส่งผลให้หุ้นตกแรงขึ้น โดยเมื่อวันจันทร์นอกจากราคาหุ้นแล้ว บิตคอยน์ยังดิ่งทะลุ 54,000 ดอลลาร์ จากกว่า 61,000 ดอลลาร์ในวันศุกร์

แม้ในวันอังคาร ตลาดหุ้นเกือบทุกแห่งในเอเชีย ยกเว้นสิงคโปร์ ฟื้นตัวถ้วนทั่ว เช่น ดัชนีคอสปีของเกาหลีใต้ที่บวก 4.3% อยู่ที่ 2,546.64 และดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงขยับขึ้น 0.5% อยู่ที่ 16,775.65 ทว่า การดิ่งลงเมื่อวันจันทร์สะท้อนความกังวลว่า ความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการใช้นโยบายอัตราการเบี้ยสูงมายาวนาน อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เฟดตัดสินใจประกาศลดดอกเบี้ยในการประชุมฉุกเฉินก่อนกำหนดการประชุมปกติครั้งต่อไปในวันที่ 18 กันยายน

เวลาเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ระยะ 2 ปีที่เคลื่อนไหวตามการคาดการณ์เกี่ยวกับเฟด ก็ดิ่งลงต่ำกว่า 3.70% ในช่วงเช้าวันจันทร์ จาก 3.88% เมื่อคืนวันศุกร์ และ 5% ในเดือนเมษายน กระนั้น ในเวลาต่อมาอัตราผลตอบแทนนี้ดีดกลับไปอยู่ที่ 3.89%

ทว่า พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสน้อยที่เฟดจะถึงขั้นประชุมฉุกเฉินเพื่อลดดอกเบี้ยเช่นนั้น เนื่องจากจริงๆ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีสัญญาณการเติบโต แนวโน้มตลาดหุ้นก็สูงขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเอสแอนด์พี 500, ดาวโจนส์ และแนสแด็กมีกำไรเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลัก

นอกจากนั้นราคาหุ้นวอลล์สตรีทที่ตกลงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาอาจเป็นแค่การเทขายหลังจากตลาดหุ้นทำนิวไฮหลายสิบรอบในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคลั่งไคล้ที่มีต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่นักวิจารณ์บางคนตั้งข้อสังเกตมาระยะหนึ่งแล้วว่า ตลาดหุ้นดูแพงเกินจริงหลังราคาหุ้นพุ่งขึ้นเร็วกว่าผลกำไรของบริษัทไปมากมาย

ทั้งนี้ ราคาหุ้นบิ๊กเทค อาทิ แอปเปิล เอ็นวิเดีย และอีกหลายบริษัทที่ถูกตั้งสมญานามว่า “Magnificent Seven” นั้นร่วงลงเมื่อเดือนที่แล้วจากความกังวลว่า ราคาที่พุ่งขึ้นอาจเป็นผลจากความคาดหวังเกินจริงสำหรับการเติบโตในอนาคตของบริษัทเหล่านั้น โดยเมื่อวันจันทร์ราคาหุ้นแอปเปิลตกลง 4.8% หลังจากเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนาน เผยว่า ได้ลดการถือครองหุ้นในบริษัทผู้ผลิตไอโฟนแห่งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกตั้งในอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ยังอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งผันผวนมากขึ้น โดยนอกจากแนวโน้มผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งแล้ว วงจรในตลาดหุ้นก็อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น หากอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจทำให้รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ต้องหามาตรการป้องกัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตชะลอตัวอาจสกัดเงินเฟ้อได้ และข้อเท็จจริงนี้อาจบีบให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องโฟกัสที่การหาวิธีฟื้นเศรษฐกิจแทนการมุ่งเน้นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตัวสำคัญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากเกือบ 0% เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดราคาหุ้นในโตเกียวรูดเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นช่วยหนุนค่าเงินเยน ซึ่งส่งผลให้บรรดาเทรดเดอร์ซึ่งที่ผ่านมาทำการกู้ยืมที่แทบไม่มีต้นทุนในญี่ปุ่นและนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก อย่างที่เรียกกันว่า carry trade ต้องรีบสะสางดีลรับมือกับแนวโน้มดอกเบี้ยญี่ปุ่นจะสูงขึ้น

(ที่มา: เอพี/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น