เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ฺ - รัฐบาลไทยทำอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศที่เคยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” กลายเป็นตำนานหลังให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าอีวีอานิสงส์ส่งรถไฟฟ้าจีนยอดพุ่งทำยอดขายรถสันดาปใช้น้ำมันค่ายญี่ปุ่นที่ผลิตภายในประเทศฟุบลงทันที บรรดาค่ายแห่ย้ายฐานกลับกระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไทยต้องปิดตัวหรือปลดคนงาน ส่งมาเลเซียผงาดขึ้นแชมป์กลายเป็นเบอร์ 2 แทนที่ไทย พบรถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้ายอดพุ่ง รุ่นวีออสต่ำสุดแค่ 770,700 บาท
นิกเกอิเอเชียของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ว่า เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักงาน BOI นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เมื่อไม่นานมานี้ได้ขอร้องต่อค่ายรถจีน GAC Aion ว่า
“มันคงจะดีมากหากว่าคุณจะสามารถให้การสนับสนุนต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนของเราด้วยการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทไทย”
เกิดขึ้นหลังความเสียหายได้แพร่กระจายไปทั่วซัปพลายเชนที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่ต่ำกว่า 12 แห่งในไทยต้องปิดตัวไปเนื่องมาจากค่ายรถอีวีจีนที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการรัฐบาลไทยไม่ได้ซื้อชิ้นส่วนรถส่วนใหญ่จากบรรดาผู้ผลิตไทย
อ้างอิงจากกรมสรรพสามิตพบว่ามีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาไทย 185,029 คันนับตั้งแต่โครงการแจกเงินอุดหนุนรถไฟฟ้าเริ่มเมื่อปี 2022 แต่ทว่าตัวเลขใหม่จากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า การจดทะเบียนรถอีวีใหม่อยู่ที่ 86,043 คัน ชี้ให้เห็นว่ามีรถไฟฟ้านำเข้าไม่ต่ำกว่า 90,000 คันเป็นกลุ่มที่ล้นความต้องการ
ในบรรดาค่ายรถจีนพบว่าค่าย BYD คู่แข่งค่ายรถอเมริกัน เทสลา ของอีลอน มัสก์ นั้นมีการตลาดที่ดุเดือดมากที่สุดจากค่ายอีวีจีนทั้งหมดหั่นราคาลง 37% จากราคาเปิดขาย 899,000 บาท ขณะที่ค่ายรถ Neta ของจีนได้ลดราคารุ่น V-II ลงราว 50,000 บาท หรือ 9% จาก 549,000 บาทในราคาเริ่มต้น
นิกเกอิเอเชียกล่าวว่า ผลกระทบจากการให้เงินอุดหนุนรถไฟฟ้าที่เริ่มมาตั้งแต่ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2022 และต่อมาจนถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน อ้างอิงจากเว็บไซต์รัฐบาลไทยเมื่อ 21 ก.พ.ปีนี้ ต่อยอดขยายรถไฟฟ้าที่กำลังล้นตลาดในประเทศให้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมขนส่งด้วยการเสนอแนวทางให้ไทยหันมาเปลี่ยนใช้รถรรทุกไฟฟ้าและรถบัสโดยสารไฟฟ้าแทน
ผลกระทบจากการแจกเงินประชาชนเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์กลายเป็นสึนามิไปทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไทยที่มีแรงงานไม่ต่ำกว่า 750,000 คน คิดเป็น 11% ของตัวเลขจีดีพีของไทยซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 18%
นิกเกอิเอเชียเปิดข้อมูลว่า ยอดขายรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มตกไปตั้งแต่โครงการให้เงินสนับสนุนซื้อรถอีวีทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำลง ส่งผลทำให้บรรดาค่ายรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเป็นส่วนใหญ่จากการที่ราว 90% ของรถเหล่านี้ล้วนผลิตอยู่ในไทยทั้งสิ้น
บวกกับความอ่อนแอเป็นวงกว้างในเศรษฐกิจไทยเองยังเป็นปัจจัยส่งให้บรรดาผู้บริโภคยกเลิกการซื้อที่มีราคาสูงกว่า สมาพันธ์อุตสาหกรรมไทยกล่าวว่ามีรถขายไป 260,365 คนต่ำไป 23% จากปี 2023 และถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปีทีเดียว
บริษัทรถฮอนด้า มอเตอร์ ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 เมื่อต้นเดือนนี้ประกาศจะหยุดการผลิตรถยนต์ที่โรงงานจังหวัดอยุธยาภายในปี 2025 และทำให้สายการผลิตแข็งแกร่งที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตัดลดการผลิตประจำปีในไทยลงมาอยู่ที่ 120,000 คัน/ปี จากแต่เดิม 270,000 คัน/ปี
บรรดาผู้ผลิตค่ายญี่ป่นรายอื่นต่างหยุดการผลิตเช่นกัน ค่ายซูบารุสั่งประกาศหยุดการประกอบรถในไทยภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ซูซุกิกล่าวว่า จะยุติการผลิตในปี 2025
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายและยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนรถไฟฟ้าที่ค่ายรถจีนได้เปรียบเมื่อเทียบจากค่ายรถอีวีอื่นจากทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปต่อไป
สื่อญี่ปุ่นกล่าวว่า เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำนักงาน BOI นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ได้พูดเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ว่า
“พวกเรารู้สึกยินดีที่มีค่ายรถจีนเพิ่มมากขึ้นมาลงทุนที่นี่ในไทยซึ่งมันสะท้อนถึงความมั่นใจในนโยบายของพวกเราในการสนับสนุนรถอีวี”
ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถได้รับผลกระทบหนัก คำสั่งซื้อชิ้นส่วนหายไป 40% ในปีนี้ ประธานสมาพันธ์กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไทย สมพล ธนาดำรงศักดิ์ เปิดเผยกับนิกเกอิ พร้อมเสริมว่าผู้ประกอบรถยนต์ตัดกำลังการผลิตไปราว 30-40% ในปี 2024
และชี้ว่า การเข้ามาของค่ายรถอีวีจีนไม่เอื้อต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถของไทยเพราะมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจากไทยแค่ 12 แห่งจากทั้งหมด 660 แห่งนั้นสามารถส่งให้ค่ายอีวีจีนที่บริษัทรถแดนมังกรเหล่านี้หากไม่นำเข้าจากจีนหรือไม่ก็นำมาจากซัปพลายเชนต้นทุนต่ำของตัวเองแทน
ประธานสมาพันธ์เปิดเผยว่า “ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถในไทยต่างลดการผลิตลงเหลือแค่ 3 วันต่อสัปดาห์เนื่องมาจากยอดความต้องการลด” และเปิดเผยว่า มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนร่วม 12 แห่งต้องประกาศเลิกกิจการ
ทั้งนี้ นิกเกอิเอเชียเคยรายงานก่อนหน้าเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า มาเลเซียขึ้นแซงหน้าไทยในฐานะตลาดรถใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่าไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” นั้นถูก “มาเลเซีย” ที่เคยครองอันดับ 3 ยาวนานด้านยอดเขายปัจจุบันขึ้นแซงไทยมาอยู่ที่อันดับ 2 เป็นรองแค่อินโดนีเซีย
มาเลเซียสามารถเอาชนะไทยได้ถึง 3 ไตรมาสติดต่อกันโดยไตรมาสล่าสุดเป็นไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) ซึ่งเมื่อเทียบกับไทยที่ยอดขายรถยนต์รายเดือนเปรียบเทียบกับปีอื่นพบว่ายอดขายรถในไทยลดลงติดต่อกันตั้งมิถุนายนปี 2023 ที่พบว่าปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากหนี้เสียสินเชื่อซื้อรถยนต์ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก และบวกกับสภาพปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เห็นผู้บริโภคไทยชะลอการจับจ่าย
แต่ทว่ามีการเติบโตมีให้เห็นเฉพาะแค่กลุ่มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าผลจากการเข้าสู่ตลาดไทยของรถอีวีรุ่นหลากหลายจากจีนที่อาจเป็นผลมาจากโครงการอุดหนุนรถไฟฟ้ารัฐบาลไทยที่ลากยาวไปจนถึงปี 2570
อ้างอิงจากสื่อธุรกิจในประเทศ เป็นต้นว่า ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ผู้ซื้อในไทยจะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาทหากซื้อรถอีวีในปี 2024 และปีหน้าผู้ซื้อจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐราว 75,000 บาท
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า ผลจากมาตรการยกเว้นภาษีการขาย (sales tax) ของมาเลเซียนอกจากจะทำให้รถญี่ปุ่นแบบใช้น้ำมันขายดีแล้วยังทำให้รถแบรนด์ของมาเลเซียเองคือ เปอโรดัว (Perodua ) และโปรตอน (Proton) ขายดีตามไปด้วย
ด้าน อีวาน กู่ (Ivan Khoo) ตัวแทนขายรถค่ายโตโยตาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ให้สัมภาษณ์ว่า ยอดขายในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024 ดีกว่าที่คิด
รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับตลาดค่ายรถโตโยตาในมาเลเซียคือ รุ่นวีออส ที่มีราคาต่ำกว่าคันละ 1 แสนริงกิต หรือราว 770,700 บาท
พร้อมกันนี้ คาดการณ์ว่า ทั้งรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปแบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ไฮบริดจะยังคงทำยอดขายได้ดีในแดนเสือเหลือง