xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-รัสเซีย ‘แลกเปลี่ยนตัวนักโทษ’ ครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีแวน เกิร์ชโกวิช (Evan Gershkovich) ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน และพอล วีแลน (Paul Whelan) อดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ เดินทางกลับถึงบ้านเกิดในสหรัฐอเมริกาแล้วเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) หลังได้รับการปล่อยตัวผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักโทษกลุ่มใหญ่ที่สุดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในยุคหลังสงครามเย็น

ทำเนียบขาวแถลงว่า สหรัฐฯ ได้มีการเจรจากับรัสเซีย เยอรมนี และอีก 3 ประเทศ กระทั่งบรรลุข้อตกลงแบบลับๆ มานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวมีทั้งหมด 24 คน แบ่งออกเป็นนักโทษ 16 คนที่ถูกปล่อยออกจากเรือนจำรัสเซียกลับสู่บ้านเกิดในตะวันตก และนักโทษอีก 8 คนที่ชาติตะวันตกส่งคืนให้รัสเซีย

นักโทษกลุ่มนี้ยังรวมถึง
วาดิม คราซิคอฟ (Vadim Krasikov) ซึ่งถูกศาลเยอรมนีพิพากษาว่ามีความผิดฐานก่อเหตุฆาตกรรมชาวรัสเซียในกรุงเบอร์ลินที่มีจุดยืนต่อต้านมอสโก

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกมายกย่องข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวนักโทษครั้งนี้ว่าเป็น “ความสำเร็จของการทูตและมิตรภาพ” พร้อมชื่นชมพันธมิตรของวอชิงตันที่ “ตัดสินใจอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว”

ไบเดน และรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ได้เดินทางไปรอต้อนรับ เกิร์ชโกวิช วีแลน รวมถึงนักหนังสือพิมพ์ อัลซู เคอร์มาเชวา และ วลาดิมีร์ คารา-มูร์ซา นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียซึ่งเป็นผู้พำนักในสหรัฐฯ ที่ฐานทัพอากาศร่วม Joint Base Andrews ในรัฐแมริแลนด์ ในเวลาก่อนเที่ยงคืน

ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ได้ไปรอต้อนรับกลุ่มนักโทษชาวรัสเซียที่เดินทางกลับไปถึงกรุงมอสโกเช่นกัน พร้อมประกาศจะมอบ “รางวัลเชิดชูเกียรติระดับชาติ” ให้คนเหล่านี้

ไบเดน ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี ที่กล้าตัดสินใจทางการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยวในการยอมปล่อยตัวนักโทษร้ายแรงอย่าง คราซิคอฟ

“วันนี้เราได้เห็นตัวอย่างที่ทรงพลังว่า การมีมิตรสหายในโลกนี้สำคัญเพียงใด” ไบเดน กล่าว

ข้อตกลงนี้ช่วยให้รัฐบาล ไบเดน เคลมผลงานความสำเร็จทางการทูตได้อีกครั้ง และน่าจะเป็นผลดีต่อแคมเปญหาเสียงของ แฮร์ริส ที่กำลังต่อสู้ช่วงชิงคะแนนนิยมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ย้ำว่าความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย “ยังอยู่ในจุดที่ยากลำบากมาก” แม้จะมีการแลกเปลี่ยนนักโทษกันก็ตาม

“ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ไม่ว่าจะในแง่ของความสัมพันธ์หรือการเจรจาก็ตาม” ไฟเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับ CNN

นักวิจารณ์บางคนยังเตือนว่า การปล่อยตัวนักโทษรัสเซียที่ก่อคดีอุกฉกรรจ์เช่นนี้อาจยิ่งส่งเสริมให้ศัตรูของสหรัฐฯ ใช้ยุทธวิธี “จับคนเป็นตัวประกัน” เช่นนี้อีก

ที่มา : รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น