สื่อรัฐบาลจีนรวมถึงนักกีฬาและชาวเน็ตแดนมังกรพร้อมใจกันออกมาปกป้อง พาน จ่านเล่อ (Pan Zhanle) ฉลามหนุ่มวัย 19 ปี ซึ่งทุบสถิติตนเองในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 100 เมตร จนคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 มาครองได้สำเร็จ แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นสิ่งที่ “เกินกว่ามนุษย์จะทำได้”
พาน คว้าเหรียญทองโอลิมปิกว่ายน้ำเหรียญแรกให้แก่จีนด้วยสถิติ 46.60 วินาที เร็วขึ้น 0.40 วินาทีจากสถิติโลกที่ตัวเขาเองเคยทำไว้ในการแข่งขัน World Aquatics Championships ที่กรุงโดฮาของกาตาร์ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีรายงานวันนี้ (2 ส.ค.) ว่าชัยชนะของ พาน เกิดขึ้น “หลังจากที่เขาได้ผ่านการตรวจหาสารกระตุ้นอย่างเข้มงวด ทั้งก่อนและระหว่างการแข่งขัน โดยมีผลตรวจเป็น ‘zero positive’ หรือไม่พบการใช้สารกระตุ้นเลยแม้แต่น้อย”
ไชน่าเดลียังอ้างบทสัมภาษณ์ของ พาน ที่ระบุว่า ตัวเขาเองผ่านการตรวจหาสารกระตุ้นทั้งหมด 21 ครั้งระหว่างช่วงเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. ก่อนที่จะลงแข่งขันในโอลิมปิก “ผมให้ความร่วมมือเต็มที่กับกระบวนการตรวจ และมั่นใจว่าผมลงแข่งขันอย่างเป็นธรรมและใสสะอาด”
พาน ยังเล่าว่า เขาได้ฝึกฝนอย่างหนัก “ทั้งแอโรบิก และความอดทนของร่างกายเพื่อเพิ่มกำลังในการว่าย และยังนำระบบวิเคราะห์และสังเกตการณ์ใต้น้ำมาใช้เพื่อทบทวนเทคนิคและสโตรกในการว่าย จึงช่วยให้ฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เบร็ตต์ ฮอว์ก โค้ชว่ายน้ำและนักวิจารณ์ชาวออสเตรเลีย ได้โพสต์อินสตาแกรมวิจารณ์ผลงานของ พาน ว่า “การว่ายด้วยความเร็วขนาดนั้น มันเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้” และ “ไม่ใช่ชีวิตจริง”
ถ้อยคำวิจารณ์ของ ฮอว์ก ถูกชาวเน็ตจีนนำไปแชร์กระหึ่ม weibo โดยผู้ใช้รายหนึ่งบอกว่า “มันเจ๋งสุดๆ เลยที่ได้เห็นพวกเขาหมดท่า อารมณ์เสีย และตบะแตก”
ชาวเน็ตอีกคนชี้ว่า “ที่จริงมันถือเป็นคำชมนะ เขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ขอโทษ... เราทำได้”
ทีมนักกีฬาว่ายน้ำจีนถูกเพ่งเล็งอย่างหนัก หลังสื่อนิวยอร์กไทม์ส และ ARD ออกมาเปิดโปงเมื่อเดือน เม.ย. ว่านักกีฬาว่ายน้ำจีน 23 คน มีผลตรวจพบสารต้องห้ามก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวปี 2021 แต่ยังได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน
องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ยอมรับผลสอบสวนของทางการจีนที่ระบุว่า ผลตรวจซึ่งเป็นบวกเกิดจาก “สารปนเปื้อนจากห้องครัวในโรงแรมที่พัก” และคณะผู้ตรวจสอบอิสระอีกชุดหนึ่งก็ออกมาสนับสนุนแนวทางจัดการปัญหาของ WADA ด้วย
ทีมตรวจสอบของ World Aquatics ได้ข้อสรุปตรงกันว่า WADA ไม่ได้บริหารจัดการผิดพลาดหรือพยายามปกปิดความผิดแต่อย่างใด และพาน จ่านเล่อ ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนักว่ายน้ำ 23 คนที่ถูกอ้างชื่อในรายงานของนิวยอร์กไทม์ส และ ARD ด้วย
ที่มา : รอยเตอร์