รายงานฉบับหนึ่งของสภาคองเกรสที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ชี้ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีความพร้อมสำหรับทำสงครามกับศัตรูชาติใหญ่ๆ ในขณะที่กองทัพขาดทั้งแสนยานุภาพและศักยภาพที่จำเป็นสำหรับการสู้รบ
คณะกรรมาธิการชุดหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากสภาคองเกรส ให้ทบทวนยุทธศาสตร์กลาโหมของสหรัฐฯ เปิดเผยถึงข้อบกพร่องสำคัญต่างๆ ในความทะเยอทะยานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สำหรับป้องปรามความขัดแย้งใหญ่ๆ หรือมีชัยในความขัดแย้งดังกล่าว ในขณะที่ในรายงานได้พาดพิงรัสเซียและจีน ในฐานะภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อความมั่นคงแห่งชาติอเมริกา
อ้างอิงจากเอกสาร 114 หน้าที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) ระบุว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติอเมริกา (NDS) ที่เขียนออกมาตั้งแต่ก่อนความขัดแย้งยูเครนเริ่มต้นขึ้นในปี 2022 ถือว่าล้าสมัยไปแล้ว เวลานี้กองทัพอเมริกาไม่มีโครงสร้างที่เหมาะสม และพื้นฐานทางอุตสากรรมกลาโหมของประเทศก็ไม่เพียงพอโดยสิ้นเชิงที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้ของภัยคุกคามต่างๆ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ชี้ว่าประเทศแห่งนี้ เตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งใหญ่ๆ หนสุดท้ายต้องย้อนกลับไประหว่างสงครามเย็น ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ 35 ปีก่อนโน่นเลย
"คณะกรรมาธิการของเรามีความเชื่ออย่างเป็นเอกฉันท์ว่ามีภัยคุกคามต่างๆ ต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของเรา มากกว่าครั้งไหนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความซับซ้อนมากกว่าช่วงระหว่างสงครามเย็น" เจน ฮาร์มัน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเดโมแครตและประธานคณะกรรมการ NDS กล่าวระหว่างเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของวุฒิสภา ในวนอังคาร (30 ก.ค.)
ในรายงานระบุว่า "ภัยคุกคามต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ นั้น รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้ มาพร้อมกับการยกระดับเป็นแนวร่วมทั้งทางการเมืองและการทหารระหว่างจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือและอิหร่าน"
ที่ประชุมซัมมิตนาโตในวอชิงตัน เมื่อเดือนที่แล้ว ได้เห็นชอบแถลงการณ์หนึ่ง ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรทหารแห่งนี้ที่นำโดยอเมริกา ตราหน้า จีน ว่ากลายมาเป็นแนวร่วมของรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน พร้อมกล่าวหาปักกิ่งว่า "เต็มไปด้วยคำโกหกและลำเอียง" อย่างไรก็ตาม ทั้งมอสโกและปักกิ่งต่างปฏิเสธคำกล่าวหาของตะวันตกที่ว่า จีน จัดหาสินค้าที่ใช้ได้สองทางแก่รัสเซีย ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางด้านพาณิชย์และทางทหาร ในนั้นรวมถึงผลิตอาวุธ
"สหรัฐฯ ควรตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า ถ้าเราเข้าสู่ความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย จีน อิหร่านหรือเกาหลีเหนือ ประเทศนั้นๆ จะได้ผลประโยชน์จากความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางการทหารจากประเทศอื่นๆ" เอกสารระบุ "เราเชื่อว่าความเป็นพันธมิตรนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งกับชาติหนึ่งชาติใด จะลุกลามบานปลายสู่แนวหน้าอื่นๆ กระตุ้นให้สหรัฐฯ และพันธมิตรมีอุปสงค์ทางทรัพยากรพร้อมกัน"
พวกผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า สหรัฐฯ ควรเพิ่มประจำการในยุโรป ด้วยกองพลติดอาวุธเต็มรูปแบบ ซึ่งมีภาระหน้าที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเสริมด้วยระบบต่างๆ ในนั้นรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ทั้งนี้ รายงานนี้ถูกเผยแพร่ออกมาท่ามกลางคำเตือนของตะวันตกในคำกล่าวอ้างที่ว่า รัสเซีย มีแผนโจมตียุโรปตะวันตกหากมีชัยเหนือยูเครนแล้ว แม้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ โดยบอกว่า "ไร้สาระ"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)