xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลปลอมท่วมโซเชียล มูลเหตุจลาจลในอังกฤษ ฝ่ายขวาจัดปั่นข่าวมือมีดเซาท์พอร์ตเป็น ‘มุสลิม/ผู้อพยพ’ ความจริงล่าสุดระบุว่าไม่ใช่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกผู้ประท้วงที่ถูกระบุว่าชักนำโดยพวกขวาจัด เผชิญหน้ากับตำรวจที่ย่านไวต์ฮอล กลางกรุงลอนดอน เมื่อวันพุธ (31 ก.ค.) ภายหลังเกิดกระแสข่าวปลอมแพร่หลายว่า มือมีดสังหารเด็กๆ ที่เมืองเซาท์พอร์ต เป็นพวกมุสลิม/ผู้อพยพ
การเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์กลายเป็นประเด็นร้อนในสหราชอาณาจักรอีกครั้ง หลังจากผู้ต้องสงสัยที่เป็นพวกขวาจัดออกป่วนเมือง สืบเนื่องจากเหตุคนร้ายวัยรุ่นใช้มีดไล่แทงเด็กตาย 3 คนในโรงเรียนสอนเต้นรำแห่งหนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ ล่าสุด มีการเปิดเผยแล้วว่า มือมีดคนก่อเหตุผู้นี้ไม่ได้เป็นมุสลิม หรือผู้อพยพอย่างที่ข่าวปลอมแพร่กระจายออกไป

บรรดาผู้นำชุมชน นักการเมือง และนักวิชาการต่างกล่าวโทษโซเชียลมีเดียว่าเป็นช่องทางสำคัญในการปล่อยข่าวเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ไล่แทงเด็กที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) ที่เมืองเซาท์พอร์ต เมืองเล็กๆ ในแถบเมอร์ซีย์ไซด์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งมีเด็กหญิงเสียชีวิต 3 คน อายุ 6, 7 และ 9 ขวบ และมีเด็กอีก 5 คน ตลอดจนผู้ใหญ่ 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นี้ได้ลุกลามกลายเป็นการก่อจลาจลรุนแรงในคืนวันอังคาร (30) โดยขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองที่นั่นหลายร้อยคนจัดพิธีไว้อาลัยผู้เสียชีวิตอย่างสงบแต่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้า ทั้งด้วยการวางพวงหรีด ของเล่น และจุดเทียนรำลึก ได้มีคนกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายสิบที่เชื่อกันว่าเป็นพวกผู้สนับสนุน “กลุ่มอิงลิช ดีเฟนซ์ ลีก” (อีดีแอล) ซึ่งเป็นพวกขวาจัด ยกพวกออกมาอาละวาดก่อจลาจลตามท้องถนนในเมืองเซาท์พอร์ตอยู่นานหลายชั่วโมง พวกเขาเฮละโลขว้างก้อนหินและยิงอาวุธปล่อยเข้าใส่มัสยิดท้องถิ่นแห่งหนึ่ง จุดไฟเผารถราและยานพาหนะของตำรวจ ตลอดจนขว้างขวดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ โดยการปะทะกับตำรวจที่พยายามระงับเหตุ ทำให้มีตำรวจบาดเจ็บหลายคน

ตำรวจออกคำแถลงระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝีมือคนจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในเมอร์ซีย์ไซด์ หรือไม่สนใจผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

ไม่เพียงเฉพาะที่เซาท์พอร์ตเท่านั้น ในเวลาต่อมายังมีรายงานเกิดการจลาจลขึ้นในหลายส่วนของอังกฤษ โดยเฉพาะที่บริเวณใจกลางกรุงลอนดอน ตำรวจได้จับกุมผู้ก่อความไม่สงบกว่า 100 คนในคืนวันพุธ (31) ขณะเข้าปะทะกับพวกผู้ประท้วงที่ย่านไวต์ฮอล ใกล้ๆ ถนนดาวนิ่งสตรีท ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่พำนักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

มาร์ก โอเวน โจนส์ นักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อและถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งประจำอยู่ในนครโดฮา แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว มักมาจากอ่อนไหวต่อข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ เนื่องจากคนเราตอบสนองต่อข่าวโศกนาฏกรรมด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่รวดเร็วฉับพลันรวดเร็ว

(จากซ้าย)อลิซ ดาซิลวา อากุยอาร์ วัย 9 ปี, เอลซี ดอต สแตนคอมบ์ วัย 7 ปี, และ เบเบ คิง วัย 6 ปี  เหยื่อที่ถูกมือมีดสังหาร ในเมืองเซาท์พอร์ต  ในภาพที่เผยแพร่โดยตำรวจเมอร์ซีย์ไซด์ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.

พวงหรีด, ดอกไม้, ลูกโป่ง, ของเล่น ที่มีผู้มาวางไว้อาลัยเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุมือมีดไล่แทงเด็กๆ ที่เมืองเซาท์พอร์ต
ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยวัย 17 ปีได้ถูกจับกุมทันทีที่ก่อเหตุโจมตีโรงเรียนสอนเต้นรำสไตล์เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในเซาท์พอร์ต แต่เนื่องจากตามกฎหมายอังกฤษที่มุ่งคุ้มครองเยาวชน ทำให้ตำรวจไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดอื่นๆ ของวัยรุ่นผู้นี้ได้

ทว่าในกรณีนี้ สุญญากาศข้อมูลนี้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้มีการคาดเดาไปต่างๆ นานาในออนไลน์ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่มีการตรวจยืนยันเกี่ยวกับตัวตน ศาสนา และภูมิหลังของผู้ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกล่าวอ้างว่าเขาเป็นมุสลิมหรือผู้อพยพชาวมุสลิม

แพทริก เฮอร์ลีย์ ส.ส.ของเขตเลือกตั้งที่เป็นท้องถิ่นแถบนี้ ชี้ว่า เหตุจลาจลในวันอังคารที่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน เป็นผลจากการหลอกลวงและโฆษณาชวนเชื่อมากมายในโซเชียลมีเดีย

โพสต์ที่ระบุว่า มือมีดเป็นมุสลิมหรือผู้อพยพถูกแชร์อย่างรวดเร็วโดยบัญชีผู้ใช้ฝ่ายขวาจัดทรงอิทธิพลอย่างทอมมี โรบินสัน อดีตผู้นำอีดีแอล และแอนดรูว์ เท็ต อินฟลูเอนเซอร์สายอนุรักษนิยม

วิดีโอที่เท็ตโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ที่มีคนเข้าไปดูเกือบ 15 ล้านคน ระบุว่า ผู้โจมตีเป็น “พวกลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

แอนดรูว์ แชดวิก อาจารย์การสื่อสารทางการเมืองของมหาวิทยาลัยลัฟโบโร ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนั้นข้อกล่าวอ้างผิดๆ จะไปปรากฏบนเว็บไซต์ข่าวผิดกฎหมายที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย นอกจากนั้น การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ยังมักเกี่ยวข้องกับ “การแทรกแซงเชิงยุทธศาสตร์” ของผู้คนที่มีจุดมุ่งหมายของตนเอง

ในกรณีนี้ ผู้ที่แชร์ข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบยืนยัน จะใช้บัญชีของผู้เห็นเหตุการณ์โจมตีเพื่อโหมกระพือความโกรธแค้น และส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อของตนเองแม้อาจอิงกับข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่เอนเอียงก็ตาม

แชดวิกยังกล่าวหา ส.ส.บางคน เช่น ไนเจล ฟาราจ ที่ใช้ภาษากำกวมทำให้ความคิดเห็นและความเชื่อของผู้ที่ถูกดึงดูดเข้าหาทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดและข้อกล่าวอ้างผิดๆ กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ หลังจากที่ตำรวจระบุว่า เหตุการณ์ไล่แทงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ฟาราจโพสต์บนเอ็กซ์โดยตั้งคำถามว่า มีการปิดบังความจริงหรือเปล่า

อีแวตต์ คูเปอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ประณามการปล่อยข้อมูลปลอมอย่างแพร่หลาย และชี้ว่า บริษัทสื่อต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

ข้อกล่าวอ้างหนึ่งที่ถูกแชร์ออกไปคือ มือมีดมีชื่อมุสลิม และตำรวจได้ออกมาชี้แจงก่อนที่จะเกิดการจลาจลว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง

แชดวิกชี้ว่า สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารคือ การตอบสนองที่ล่าช้าของเอ็กซ์

โพสต์ดังกล่าวยังคงโชว์อยู่ในบัญชี "EuropeInvasion" ซึ่งเป็นของผู้ใช้ที่ต่อต้านผู้อพยพที่ใช้ชื่อปลอม และอ้างว่า ผู้โจมตีเป็นมุสลิมที่อพยพทางเรือไปยังอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว และโพสต์นี้มียอดวิวถึง 1.4 ล้านวิว

โจนส์เห็นด้วยว่า ข้อมูลเท็จมากมายเป็นผลจากบริษัทโซเชียลมีเดียที่ไม่กระตือรือร้นตรวจสอบถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือข้อมูลผิดๆ บนแพลตฟอร์มของตนเอง

ล่าสุด เมื่อมีการนำตัวจำเลยผู้ต้องสงสัยเป็นมือมีด ขึ้นพิจารณาคดีนัดแรกในศาลปกครองลิเวอร์พูลวันพฤหัสฯ (1 ส.ค.) ปรากฏว่า ผู้พิพากษาได้อนุญาตยกเว้นเป็นพิเศษไม่ต้องปกปิดชื่อของเยาวชนผู้นี้ และต่อมาสื่อทั้งหลายระบุว่า เขามีชื่อว่า แอ็กเซล รูดาคูบานา (Axel Rudakubana) ซึ่งไม่ใช่เป็นชื่อแบบมุสลิม รวมทั้งมีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ตำรวจเผยก่อนหน้านี้ว่าเขาไม่ใช่ผู้อพยพ แต่เกิดในสหราชอาณาจักร ที่แคว้นเวลส์ นั้น ก็คือ เขาเกิดที่เมืองคาร์ดิฟฟ์ ของแคว้นเวลส์ โดยบิดามารดาเป็นชาวรวันดา และเท่าที่ทราบกันนั้นเขาดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิสลาม

(ที่มา : เอเอฟพี, สกายนิวส์, ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น