นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ออกมาประณาม เมตา แพลตฟอร์มส (Meta Platforms) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างดุเดือดว่าทำตัว “ขี้ขลาดตาขาว” หลังถูกเฟซบุ๊กลบโพสต์ที่ตนเองแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุลอบสังหาร อิสมาอีล ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส
มาเลเซียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามถือเป็นชาติที่แสดงจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขันเรื่อยมา และนายกฯ อันวาร์ ก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอบันทึกการสนทนาระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่ฮามาสคนหนึ่ง เพื่อแสดงความโศกเศร้าอาลัยต่อการจากไปของฮานิเยห์ ก่อนที่โพสต์ดังกล่าวจะถูกเฟซบุ๊กลบออกไป
เหตุลอบสังหารอุกอาจครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ ฮานิเยห์ เดินทางไปยังกรุงเตหะรานของอิหร่าน เพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดี มาซูด เปเซสเคียน ผู้นำอิหร่านคนใหม่
หลายฝ่ายมองว่า นี่คือการเติมเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงอยู่แล้ว และอาจทำให้การสู้รบในกาซาลุกลามขยายวงกว้างจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค
อันวาร์ ซึ่งมีโอกาสได้พบ ฮานิเยห์ ที่กาตาร์เมื่อเดือน พ.ค. ระบุว่า ตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำทางการเมืองของฮามาส แม้มาเลเซียจะไม่ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนฮามาสในด้านการทหารก็ตาม
“ขอให้นี่เป็นการส่งสารที่ชัดเจนแจ่มแจ้งถึงเมตา : หยุดแสดงอาการขี้ขลาดตาขาวแบบนี้เสียที และเลิกทำตัวเป็นเครื่องมือให้กับระบอบไซออนิสต์อิสราเอล!” อันวาร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก
เมตา ยังไม่ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนในวันนี้ (1 ส.ค.) ขณะที่กระทรวงสื่อสารของมาเลเซียระบุว่า จะมีการเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียเคยประท้วงเมตามาแล้วหลายครั้งเรื่องการปิดกั้นคอนเทนต์ต่างๆ รวมถึงข่าวที่ อันวาร์ ไปพบกับ ฮานิเยห์ ครั้งสุดท้าย ซึ่งต่อมาทางเมตาก็ได้ยอมปลดบล็อกโพสต์ดังกล่าวให้
เมตา ออกมาอธิบายในตอนนั้นว่า “ไม่ได้มีเจตนา” ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก และก็ไม่เคยใช้มาตรการจำกัดเนื้อหาที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมตา ถือว่าฮามาสซึ่งเป็นขบวนการอิสลามิสต์ที่ปกครองฉนวนกาซาคือหนึ่งใน “องค์กรอันตราย” (dangerous organization) และห้ามการเผยแพร่เนื้อหายกย่องเชิดชูคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้เมตายังใช้ระบบตรวจจับอัตโนมัติร่วมกับทรัพยากรบุคคลในการลบโพสต์หรือติดป้ายคำเตือนภาพกราฟิกต่างๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎของแพลตฟอร์มด้วย
รัฐบาลมาเลเซียประกาศจุดยืนสนับสนุนทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ (two-state solution) เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ที่มา : รอยเตอร์