xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคง UN หวั่นเหตุลอบสังหาร ‘ผู้นำฮามาส’ ทำไฟสงครามลามทั่วตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ออกมาเรียกร้องในวันพุธ (31 ก.ค.) ให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามทางการทูตยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางลุกลามขยายวงกว้างออกไป หลังเหตุลอบสังหารผู้นำฮามาสและผู้บัญชาการระดับสูงของฮิซบอลเลาะห์ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดหนัก

อิสมาอีล ฮานิเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ถูกลอบสังหารที่กรุงเตหะรานเมืองหลวงอิหร่านเมื่อเช้ามืดวันพุธ (31 ก.ค.) หลังเดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ โดยเหตุลอบสังหารอุกอาจครั้งนี้ทำให้รัฐบาลอิหร่านออกมาชี้หน้ากล่าวโทษและขู่จะแก้แค้นอิสราเอลอย่างสาสม ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าการสู้รบในกาซากำลังจะถูกยกระดับจนกลายเป็นสงครามใหญ่ทั่วตะวันออกกลาง

การตายของ ฮานิเยห์ เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถูกปลิดชีพจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลที่กรุงเบรุตของเลบานอน โดยอิสราเอลนั้นอ้างว่าเป็นการแก้แค้นที่ฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดถล่มชุมชนบนที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของรัฐยิว

“เราเกรงว่าภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังจะเข้าสู่สงครามเต็มขั้น” ชิโนะ มิตสุโกะ รองเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรญี่ปุ่นประจำองค์การสหประชาชาติ ระบุวานนี้ (31) พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติใช้ความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้น

จีน รัสเซีย แอลจีเรีย และอีกหลายประเทศ กล่าวประณามการลอบสังหารฮานิเยห์ ขณะที่เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำยูเอ็นเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การก่อการร้าย” ส่วนสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส อ้างว่าอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการ (actors) ที่บ่อนทำลายความมั่นคงในตะวันออกกลาง

ฟู่ ชง (Fu Cong) เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ชี้ว่าความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในกาซาคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

“ประเทศต่างๆ ที่มีอิทธิพลสูงจะต้องเพิ่มแรงกดดัน และทำงานให้หนักกว่านี้เพื่อดับไฟสงครามในกาซาลงให้ได้” ฟู่ กล่าว

บาร์บารา วูดวาร์ด เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นและอดทนอดกลั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในกาซา เธอยังย้ำว่าทั้งอิสราเอลและฮามาสจำเป็นต้องยอมรับกระบวนการสันติภาพที่มุ่งไปสู่ทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ ซึ่งได้แก่รัฐอิสราเอลที่มีความมั่นคงปลอดภัย และรัฐปาเลสไตน์ที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง

“หนทางสู่สันติภาพจะต้องใช้วิธีเจรจาทางการทูตเท่านั้น สันติภาพที่ยั่งยืนไม่อาจได้มาด้วยระเบิดและกระสุน” ทูตอังกฤษกล่าว

ด้าน โรเบิร์ต วูด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ขอให้รัฐสมาชิก UNSC ที่พอจะมีอิทธิพลโน้มน้าวอิหร่าน “เพิ่มแรงกดดัน” เพื่อทำให้เตหะรานหยุดให้ท้ายพวกกลุ่มติดอาวุธตัวแทนในการเล่นงานอิสราเอล

อามีร์ ซาอีด อิราวานี ทูตอิหร่านประจำยูเอ็น ยืนยันว่าที่ผ่านมาเตหะราน “ใช้ความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุด” มาโดยตลอด แต่ก็ขอสงวนสิทธิในการตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้ UNSC ประณามอิสราเอล และใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัฐยิว

โจนาธาน มิลเลอร์ รองเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น ตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้ UNSC ประณามอิหร่านที่สนับสนุนการก่อการร้ายในภูมิภาค และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเตหะรานให้หนักขึ้นไปอีก

“เราจะปกป้องตนเอง และตอบโต้ด้วยพลังอันรุนแรงต่อใครก็ตามที่ทำอันตรายต่อเรา” มิลเลอร์ กล่าว และเรียกร้องให้ทั่วโลกหนุนหลังอิสราเอลด้วย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น