xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย-จีนกำลังหันมาปรับปรุงความสัมพันธ์กัน กลายเป็นการทำลายฝันเฟื่องของสหรัฐฯ ที่จะ‘เสี้ยม’2ยักษ์เอเชียให้คอยถ่วงอำนาจกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สเปงเกลอร์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา  โมดี ของอินเดีย ขณะแลกเปลี่ยนของขวัญกัน เมื่อครั้งที่ประมุขจีนไปเยือนแดนภารตะในปี 2019  นับเป็นการพบปะกันที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนักของผู้นำทั้งสอง  อย่างไรก็ตาม เวลานี้ประเทศยักษ์ใหญ่เอเชีย 2 รายนี้กำลังเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้น
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

India-China warming pops US pipe dream
by Spengler
26/07/2024

สหรัฐฯคิดนึกเอาไว้ว่าอินเดียจะเป็นตัวถ่วงดุลที่มีความเป็นประชาธิปไตย เอาไว้ทัดทานคานอำนาจของจีน แต่แล้วมหาอำนาจเอเชียเหล่านี้กลับกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และขัดแย้งกันในทางยุทธศาสตร์ลดน้อยลง

รัฐมนตรีคลัง นิรมาละ สีธารามาน (Nirmala Sitharaman) ของอินเดีย [1] เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) ที่ผ่านมา ให้การรับรองข้อเสนอของที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเธอ ที่ให้เปิดประเทศรับการลงทุนโดยตรงจากจีน หลังจากเรื่องนี้ได้ถูกแช่แข็งเอาไว้ในทางเป็นจริงนับตั้งแต่เกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนระหว่างจีน-อินเดียในปี 2020

ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าว [2] ว่า “หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของอินเดีย วี อานันทา นาเกสวารัน (V Anantha Nageswaran) ได้กล่าวว่า ... เพื่อที่จะเพิ่มการส่งออกไปทั่วโลกของอินเดีย สิ่งที่นิวเดลีสามารถทำได้ก็คือ ถ้าไม่บูรณาการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน ก็ให้ส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) จากจีน

“ในบรรดาทางเลือกเหล่านี้ การเน้นหนักที่ FDI จากจีน ดูมีลู่ทางความหวังมากกว่าสำหรับการเพิ่มพูนการส่งออกของอินเดียไปยังสหรัฐฯ ซึ่งก็อยู่ในทำนองเดียวกับที่พวกระบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกได้เคยกระทำมาในอดีตนั่นเอง” นาเกสวารัน กล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์

การเปิดกว้างต้อนรับจีนตามข้อเสนอนี้ –ซึ่งก็เท่ากับเป็นการตำหนิไม่เอาด้วยกับการดำเนินการทางการทูตของอเมริกันในภูมิภาคนี้— เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางไปเยือนกรุงนิวเดลีเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้
 
จดหมายข่าว “Global Risk-Reward Monitor” (ติดตามความเสี่ยง-รางวัลในทั่วโลก) ที่จัดทำโดยเอเชียไทมส์ ได้เสนอรายงานเอ็กคลูสีฟเอาไว้เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม ว่า “ (นายกรัฐมนตรี นเรนทรา) โมดี ได้ขอให้ ปูติน ช่วยเหลืออินเดียแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทที่มีมานานแล้วกับจีน การพิพาทนี้คือการสู้รบขัดแย้งทางทหารที่สำคัญที่สุดในเอเชีย ถึงแม้มันอยู่ในลักษณะที่จำกัดอย่างที่มันเป็นอยู่นี่แหละ เนื่องจากมันทำให้ 2 ประเทศใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ทำการสู้รบกัน การที่รัสเซียเข้ามาเป็นตัวกลางเช่นนี้ แม้ว่าจะเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการก็ตามที จะก่อให้เกิดการปฏิวัติในทางการทูตขึ้นมาทีเดียว และกลายเป็นการเย้ยเยาะความวาดหวังของอเมริกาที่จะปลุกระดมชักชวนพวกประเทศเอเชียให้ร่วมมือกันต่อต้านจีน”

ตั้งแต่เมื่อปี 2022 ผมเคยเสนอความคิดเห็นเอาไว้ว่า ความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางประชากร [3] – นั่นคือ การที่ประชากรของส่วนอื่นๆ ในเอเชียที่มิได้เป็นมุสลิม กำลังลดต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตขยายตัวของประชากรมุสลิม –จะผลักดันให้อินเดีย, รัสเซีย, และจีน เดินหน้าไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์กันใหม่ในทางยุทธศาสตร์

สงครามยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่เวลานี้ ยิ่งเป็นตัวขับดันให้ชาติที่มีลู่ทางโอกาสที่จะเป็นปรปักษ์กันเหล่านี้ กลับหันมารวมตัวกัน ความหิวกระหายอย่างชนิดไร้ขีดจำกัดของอินเดีย ในน้ำมันรัสเซียที่หั่นราคาขายลงมา กลายเป็นตัวขับดันให้ยอดนำเข้าจากรัสเซียพุ่งทะยานสู่ระดับ 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2023 จากที่อยู่แค่ระดับ 8,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียยังทำตัวเป็นเอเยนต์จัดจำหน่ายให้แก่รัสเซีย ด้วยการนำเอาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผ่านการกลั่นแล้วของรัสเซียไปขายต่อให้แก่พวกประเทศที่สาม

เป็นเรื่องที่ควรแก่การตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ถึงแม้อินเดียกับจีนยังคงมีข้อพิพาททางชายแดนกันอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อินเดียก็ไม่เคยเข้าร่วมกับสหรัฐฯและพวกพันธมิตรของสหรัฐฯในการประณามจีนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อประชากรชาวอุยกูร์มุสลิมของแดนมังกร ขณะที่ในเวลาเดียวกันนี้ สหรัฐฯกำลังกล่าวหาอินเดียว่ามีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมของแดนภารตะ

รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ประกาศเอาไว้ในปี 2022 ว่า “เรามีปฏิสัมพันธ์อยู่เป็นประจำกับพวกหุ้นส่วนชาวอินเดียของเราในเรื่องเกี่ยวกับค่านิยมที่สองประเทศมีร่วมกันอยู่เหล่านี้ (เรื่องสิทธิมนุษยชน) และ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องนี้ เรากำลังมีการเฝ้าติดตามพัฒนาการที่น่ากังวลใจบางอย่างบางประการในอินเดียในช่วงหลังๆ นี้ ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝีมือของรัฐบาล, ตำรวจ, และพวกเจ้าหน้าที่เรือนจำ”

ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ เอส ชัยศังกระ ของอินเดีย ได้ตอบโต้ว่า อินเดียก็สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เหมือนกันเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ

จีนนั้นกำลังขยายการค้าอย่างรวดเร็วยิ่งกับทางซีกโลกใต้ (Global South หมายถึงพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และพวกประเทศกำลังพัฒนา) โดยที่รวมถึงอินเดียด้วย ซึ่งกลายเป็นการแผ้วถางทางสร้างโอกาสให้แก่การหันกลับมามีสายสัมพันธ์กันอีกคำรบหนึ่งระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดของโลก 2 รายนี้

อินเดียเวลานี้พึ่งพาอาศัยห่วงโซ่อุปทานของจีนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออกของตน โดยที่แดนภารตะนำเข้าพวกชิ้นส่วนและสินค้าทุนจากจีน และนำมาประกอบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อส่งไปยังประดาตลาดพัฒนาแล้ว อย่างที่เม็กซิโก, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, และพวกหุ้นส่วนการค้าของจีนรายอื่นๆ ต่างปฏิบัติกันอยู่

ยอดการนำเข้าจากจีนของอินเดีย เพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ทั่วโลกเผชิญโรคระบาดใหญ่โควิด ขณะเดียวกับที่การค้าส่งออกของจีนจำนวนมหาศาล ได้เปลี่ยนทิศทางจากการมุ่งไปสู่สหรัฐฯและยุโรป โดยหันไปหาซีกโลกใต้

ชาร์ตแสดงยอดส่งออกของจีนไปยังอินเดียและตลาดซีกโลกใต้อย่าง อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, เม็กซิโก ที่มา: เอเชียไทมส์
การส่งออกไปสหรัฐฯของอินเดียนั้น เพิ่มพูนขยายตัวอยู่ในจังหวะฝีก้าวเดียวกันกับการนำเข้าจากจีนของแดนภารตะ เฉกเช่นที่ เนกาสวารัน ได้ชี้เอาไว้ ชาร์ตข้างล่างนี้ แสดงให้เห็นปริมาณการค้าของทั้งสองชุดนี้ โดยมีหน่วยเป็นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน

ชาร์ตแสดงยอดส่งออกของจีนไปอินเดีย และยอดส่งออกของอินเดียไปสหรัฐฯ ที่มา: เอเชียไทมส์
อินเดียนั้นมีข้อจำกัดจากลักษณะทางกายภาพและจากเรื่องต้นทุนมนุษย์ ถึงแม้ประชากรของจีนและอินเดียจะมีจำนวนที่เรียกได้ว่าเท่าๆ กัน แต่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากร (per capita GDP) ของอินเดีย อยู่ในระดับเพียงแค่ราวๆ 1 ใน 6 ของจีนเท่านั้นเมื่อคำนวณกันโดยใช้ค่าเสมอภาคที่กำหนดโดยกำลังซื้อ (purchasing power parity)

ชาร์ตเปรียบเทียบตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากรของอินเดียและจีน (คำนวณโดยปรับค่าเงินเป็นมูลค่าดอลลาร์สหรัฐฯที่คงที่ และวัดจีดีพีด้วยค่าเสมอภาคที่กำหนดโดยกำลังซื้อ) ที่มา: เอเชียไทมส์
จีนนั้นถือเป็นผู้เชี่ยวชาญของโลกในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่อินเดียเผชิญภาวะขาดแคลนมีความไม่เพียงพอในด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับฐานราก เป็นต้นว่า ถนน, ทางรถไฟ, น้ำ, และการสื่อสารบรอดแบนด์ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ [4]

รายงานฉบับหนึ่งของธนาคารโลกที่ทำออกมาในปี 2022 [5] ประเมินเอาไว้ว่า “อินเดียจำเป็นจะต้องลงทุนรวมเป็นเงิน 840,000 ล้านดอลลาร์ตลอดระยะ 15 ปีข้างหน้า –หรือเฉลี่ยแล้วตกปีละ 55,000 ล้านดอลลาร์ –ไปในพวกโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชนเมือง ถ้าหากต้องการที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความจำเป็นด้านต่างๆ ของประชากรในเขตเมืองที่กำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วของตน” โดยที่เวลานี้รัฐบาลแดนภารตะใช้จ่ายเพียงแค่ 16,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้นกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมือง

ระบบการคมนาคมทางรางที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมของอินเดีย โดยเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษปกครองแดนภารตะเป็นอาณานิคมนั้น สามารถสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4 กิโลเมตรต่อวัน สำหรับในประเทศจีน เส้นทางรถไฟระหว่างเมืองฝูโจว กับเมืองเซี่ยเหมิน ที่เป็นเมืองท่าสำคัญ ซึ่งกำลังกลายเป็นสายทางรถไฟความเร็วสูงสร้างข้ามทะเลสายแรกของโลก [6] นั้น สามารถวางรางได้ 6 กิโลเมตรต่อวัน ทั้งนี้เครื่องจักรวางรางรถไฟของจีนแต่ละเครื่องสามารถวางรางได้อย่างเป็นเอกเทศในระดับ 8 กิโลเมตรต่อวันทีเดียว

เพื่อเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ทางรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถวิ่งในเส้นทางระยะ 2,300 กิโลเมตรระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองกว่างโจวให้ถึงจุดหมายในเวลา 9 ชั่วโมง แต่การเดินทางที่สั้นกว่านั้นนิดหน่อยจากกรุงนิวเดลีไปยังเมืองบังคาลอร์ (เบงคลูรู) ยังคงใช้เวลานานกว่านั้นราวๆ 4 เท่าตัว

ในเรื่องคุณภาพทางด้านโภชนาการ จีนถูกจัดอยู่ในหมู่ 20 ประเทศติดอันดับสูงสุด (ท็อป 20) ทั้งนี้ตามดัชนีความหิวโหยโลก (World Hunger Index) ขณะที่อินเดียอยู่ในอันดับ 111 จากทั้งหมด 125 ประเทศที่นำมาจัดอันดับกัน

จีนกับอินเดียมีขนาดของประชากรที่กล่าวอย่างคร่าวๆ ได้ว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ทว่าอัตราการเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของจีนก้าวขึ้นไปถึงระดับ 72% แล้วในปี 2022 เปรียบเทียบกับ 31% ในอินเดีย ทั้งนี้ตามตัวเลขของธนาคารโลก ยิ่งกว่านั้น พวกมหาวิทยาลัยชั้นสองของจีนเวลานี้สามารถฝึกอบรมวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่การศึกษาด้านวิศวกรรมของอินเดียส่วนที่อยู่นอกสถาบันเทคนิคชื่อเสียงดังๆ ทั้งหลาย ยังคงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า

อินเดียไม่ได้เข้าร่วมในการทดสอบประเมินผลความรู้ความสามารถของนักเรียนนานาชาติ ที่เรียกกันว่า การสอบ PISA มาตั้งแต่ปี 2009 เมื่อตอนที่แดนภารตะอยู่ในอันดับ 72 จากจำนวนประเทศที่เข้าทดสอบทั้งหมด 73 ประเทศ สำหรับจีนนั้นเวลานี้อยู่อันดับ 2 รองลงมาจากสิงคโปร์เท่านั้น

ชาร์ตเปรียบเทียบอัตราส่วนการเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียและจีน ที่มา: เอเชียไทมส์
สิ่งที่อินเดียต้องการมากที่สุดคือการลงทุนและการถ่ายโอนเทคโนโลยี

ในความคิดฝันซึ่งเป็นที่โปรดปรานนักหนาของพวกบัณฑิตผู้รู้ชาวอเมริกัน ก็คือ อินเดียจะสามารถเป็นตัวถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในเอเชียได้

วอลเตอร์ รัสเซลล์ มีด (Walter Russell Mead) คอลัมนิสต์และนักเขียนของวอลล์สตรีทเจอร์นัล [7] พูดในการประชุมลัทธิอนุรักษนิยมแห่งชาติ (National Conservatism Conference) ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “การผงาดขึ้นมาของอินเดียมีศักยภาพที่จะสร้างเอเชียชนิดซึ่งชาวอเมริกันต้องการที่จะพบเห็นมาโดยตลอด ... จีนซึ่งได้พัฒนาไปแล้วด้วยความว่องไวอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดภาพมายาขึ้นมาว่าจีนสามารถที่จะครอบงำเอเชียทั้งหมด และบังคับให้เอเชียต้องใช้ระเบียบที่พวกเขาต้องการ การผงาดขึ้นมาของอินเดีย –และมันยังจะติดตามมาด้วยเวียดนาม, ด้วยอินโดนีเซีย, ด้วยรัฐเอเชียอื่นๆ อีกมากมาย –การพัฒนาทางเศรษฐกิจของอินเดียเมื่อกระทำได้อย่างเต็มศักยภาพของพวกเขาแล้ว จะเป็นตัวยุติมายาภาพในเรื่องจีน ... ขณะที่อินเดียพัฒนาไป มันก็จะสาธิตให้จีนเห็นว่าเส้นทางไปสู่การครองฐานะเป็นเจ้าเหนือใครของพวกเขาได้ถูกปิดลงแล้ว”

ตรงกันข้ามกับความคิดฝันเฟื่องของมีด ความองอาจกล้าหาญทางการส่งออกของจีนคือแม่เหล็กที่จะดึงดูดระบบเศรษฐกิจของเอเชียทั้งหมดให้มาจัดกำลังผูกพันธมิตรกันใหม่รอบๆ ปริมณฑลทางเศรษฐกิจของแดนมังกร ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของมีด จีนไม่ได้ต้องการที่จะ “บังคับให้เอเชียต้องใช้ระเบียบ” ตามที่พวกเขาต้องการ –จีนนั้นไม่สนใจใยดีในเรื่องวิถีทางที่พวกเพื่อนบ้านของตนปกครองตัวเองหรอก –แต่จีนมีความต้องการจริงๆ ที่จะนำเอาเอเชียเข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจที่แผ่กว้างออกไปของตนอย่างแน่นอน

ทว่านั่นไม่ใช่เป็นเหตุผลเพียงประการเดียวหรอกที่ทำให้รัฐบาลโมดีกำลังพิจารณาที่จะสร้างสายสัมพันธ์กันใหม่กับเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของตนรายนี้

ผมเคยเขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2022 ดังนี้ “การที่อเมริกาทอดทิ้งอัฟกานิสถานอย่างน่าอับอายขายหน้า ก่อให้เกิดหลุมลึกแห่งความไร้เสถียรภาพหลุมหนึ่งขึ้นในเอเชียกลาง อเมริกันเข้ารุกรานอัฟกานิสถานก็ด้วยมุ่งแสวงหาทางทำลายพวกตอลิบาน ทว่ามันกลับจบลงด้วยการฟื้นฟูตอลิบานให้เข้าครองอำนาจอีกครั้ง เป็นการจัดเตรียมให้มีดินแดนซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็อาจใช้เป็นฐานสำหรับพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์ โดยเป็นดินแดนซึ่งอยู่ประชิดติดชายแดนของจีน, ปากีสถาน ตลอดจนเติร์กเมนิสถาน, และอุซเบกิสถาน ... สำหรับจีน, รัสเซีย, และอินเดียแล้ว นี่คือตัวแทนของความท้าทายทางยุทธศาสตร์ในระดับทรงความสำคัญเป็นอันดับแรกทีเดียว ทั้ง 3 ประเทศนี้ต่างก็มีชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในจำนวนไม่ใช่น้อยๆ เลย”

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ปี 2022 ก็คือ “รอยเท้าในทางเศรษฐกิจ” (economic footprint) ของจีนในเอเชียกลาง ทั้งนี้การส่งออกของจีนไปสู่เอเชียกลางและตุรกีได้เพิ่มขึ้นมา 3 เท่าตัวทีเดียวในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ชาร์ตแสดงยอดส่งออกของจีนไปเอเชียกลางและตุรกี ที่มา: เอเชียไทมส์
จีนกำลังสะสางทำความสะอาดความยุ่งเหยิงวุ่นวายของอเมริกาในภูมิภาคนี้ภายหลังการพังครืนของอัฟกานิสถาน ด้วยการสร้างทางรถไฟ, ถนน, และบรอดแบนด์ และการเทเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะกลายเป็นตัวแทนของแหล่งที่มาของความไร้เสถียรภาพในอนาคต

ปัญหาภายในที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของอินเดีย ยังคงเป็นชาวมุสลิมที่มีจำนวนราว 14% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งอยู่กันแบบกระจุกตัวในหลายๆ พื้นที่ และยังคงเป็นผู้คนซึ่งควบคุมได้ยากลำบาก จีน, อินเดีย, รัสเซียมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ประการหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพขึ้นมาในหมู่ประชากรชาวมุสลิมของเอเชีย แต่มีเพียงจีนเท่านั้นซึ่งมีทรัพยากรต่างๆ เพียงพอสำหรับที่จะบรรลุความสำเร็จของการนี้ โดยผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

สเปรงเลอร์ เป็น “ช่องทาง” หรือพูดอย่างเข้าใจง่ายๆ คือเป็นนามปากกาของ เดวิด พี. โกลด์แมน ผู้ช่วยบรรณาธิการของเอเชียไทมส์

เชิงอรรถ
[1] https://www.reuters.com/markets/asia/indias-finance-minister-backs-increasing-chinese-direct-investment-2024-07-23/
[2] https://www.reuters.com/world/india/indian-economic-adviser-backs-more-chinese-direct-investment-annual-report-2024-07-22/
[3] https://asiatimes.com/2022/04/demographics-push-china-india-russia-triple-entente/
[4] https://widgets.weforum.org/cards/india-briefing/closing-the-infrastructure-gap-in-india/
[5] https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2022/11/14/india-s-urban-infrastructure-needs-to-cross-840-billion-over-next-15-years-new-world-bank-report
[6] https://en.imsilkroad.com/p/326924.html
[7] https://www.youtube.com/watch?v=w5RJxF27OWg&t=169s

รัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ ของอินเดีย (ซ้าย) จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ขณะพบเจรจาทวิภาคีกันข้างเคียงการประชุมอาเซียน ที่กรุงเวียงจันทน์ วันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) (ภาพจากบัญชีแพลตฟอร์ม X ของรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย)
หมายเหตุผู้แปล

ช่วงใกล้ๆ กับที่เอเชียไทมส์เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ ปรากฏว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ได้พบหารือกับ รัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ ของอินเดีย ข้างเคียงการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียนที่ประเทศลาว ทำให้เกิดความคืบหน้าในการคลี่คลายข้อพิพาทชายแดนระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งยืดเยื้อมานาน ผู้แปลจึงขอเก็บความรายงานข่าวเรื่องนี้จากสำนักข่าวเอพี มาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้:


อินเดีย-จีนตกลงเร่งทำงานเพื่อถอนทหารออกจากชายแดนที่พิพาทกัน
โดย สำนักข่าวเอพี

India and China agree to work urgently to achieve the withdrawal of troops on their disputed border
By AP

นิวเดลี - อินเดียกับจีนเห็นพ้องกันที่จะทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถถอนทหารจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งตั้งประจำอยู่ตามแนวชายแดนที่ทั้งสองประเทศเกิดข้อพิพาทกันในการเผชิญหน้าซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนานแล้ว ทั้งนี้ตามการแถลงของรัฐบาลอินเดีย

รัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ ของอินเดีย ได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) ในการหารือข้างเคียงการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนที่ลาว และทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความจำเป็นสำหรับการคลี่คลายหาทางออกแต่เนิ่นๆ ในบรรดาประเด็นปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ ตามแนว “เส้นควบคุมแท้จริง” (Line of Actual Control) ซึ่งสองประเทศพิพาทกัน ตรงพื้นที่พรมแดนยาวเหยียดบริเวณเทือกเขาหิมาลัยของยักษ์ใหญ่เอเชีย 2 รายนี้

ทั้งนี้เส้นควบคุมแท้จริง ทำหน้าที่แยกดินแดนที่ฝ่ายจีนและฝ่ายอินเดียยึดครองอยู่ ตั้งแต่ดินแดนลาดัก (Ladakh) ทางตะวันตก ไปจนถึงรัฐอรุณาจัลประเทศ ทางตะวันออกของอินเดีย โดยที่อรุณาจัลประเทศนั้น จีนประกาศอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตนทั่วทั้งรัฐ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้เสื่อมทรามลงอย่างแรงในเดือนกรกฎาคม 2020 หลังจากเกิดการปะทะกันระหว่างกองทหารของสองฝ่าย ซึ่งสังหารทหารอินเดียไปอย่างน้อย 20 คน และฝ่ายจีน 4 คน จากนั้นมันก็กลายเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างยาวนานในพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นเทือกเขาทุรกันดาร โดยที่แต่ละฝ่ายได้ส่งบุคลากรทางทหารจำนวนหลายหมื่นคนพรั่งพร้อมด้วยปืนใหญ่, รถถัง, และเครื่องบินขับไล่ ไปตั้งประจำที่นั่น

ปัจจุบันทั้งอินเดียและจีนได้ถอนทหารออกมาจากบางพื้นที่ในบริเวณฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของทะเลสาบผางกงโฉ (Pangong Tso), ทุ่งหญ้าโกกรา (Gogra), และหุบเขากัลวัน (Galwan Valley) แต่ยังคงกำลังทหารส่วนพิเศษเพิ่มเติม ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการประจำการทหารเอาไว้หลายๆ ชั้น

ตามคำแถลงของฝ่ายอินเดียที่เผยแพร่ในคืนวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสอง “เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างเร่งด่วนด้วยวัตถุประสงค์ที่จะบรรลุถึงการถอนกำลังทหารออกห่างจากกันอย่างสมบูรณ์ในเวลาเร็วที่สุด” นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การมีสันติภาพในบริเวณพรมแดนนี้คือสาระสำคัญของการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติของประเทศทั้งสอง

ในคำแถลงของฝ่ายอินเดียยังระบุอีกว่า รัฐมนตรีชัยศังกระ กล่าวในคำแถลงเปิดการเจรจาของเขาว่า ประเด็นปัญหาชายแดนนี้ ได้ “ทอดเงาทะมึน” เหนือสายสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีนมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้มีความพยายามอย่างมากมายจากทั้งสองฝ่ายที่จะแก้ไขคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ เขาย้ำว่า “สถานะของสายสัมพันธ์ของเรา จำเป็นที่จะต้องสะท้อนให้เห็นในสถานะของชายแดนนี้”

ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า รัฐมนตรีหวัง ได้เน้นย้ำว่า สายสัมพันธ์จีน-อินเดียที่ปรับปรุงยกระดับดีขึ้นนั้น เป็นผลประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ เช่นเดียวกับสำหรับประเทศอื่นๆ นอกจากนั้นเขากล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะทำงานด้วยกันเพื่อธำรงรักษาสันติภาพในพื้นที่ชายแดนและผลักดันให้บังเกิดความก้าวหน้า

อินเดียกับจีนนั้นได้ทำสงครามกันเพื่อช่วงชิงดินแดนในเขตชายแดนของพวกเขาเมื่อปี 1962 โดยที่เส้นควบคุมแท้จริงนี้ (ซึ่งเกิดขึ้นจากการตกลงหยุดยิงกันคราวนั้น) ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายควบคุมอยู่ในทางกายภาพภายหลังการหยุดยิง ไม่ใช่เป็นไปตามการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของแต่ละฝ่าย โดยตามการยืนยันของอินเดียนั้น เส้นพรมแดนในทางพฤตินัยนี้มีความยาวทั้งสิ้น 3,488 กิโลเมตร ขณะที่จีนอ้างตัวเลขที่สั้นกว่านี้มาก

นับตั้งแต่ที่เกิดการปะทะกันทางทหารในปี 2020 แล้ว พวกผู้บังคับบัญชาทหารระดับท็อปของอินเดียและจีนได้จัดการเจรจากันมาหลายรอบ เพื่อหารือถึงการถอนกำลังทหารออกจากบรรดาพื้นที่ตึงเครียด
กำลังโหลดความคิดเห็น