สหรัฐฯ แถลงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ว่าจะมอบเงินทุนด้านการทหารมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,000 ล้านบาท) แก่ฟิลิปปินส์ ขณะที่ทั้งคู่จ้องมองไปที่สถานการณ์ความตึงเครียดกับจีน
คำแถลงนี้มีขึ้นเมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.) ระหว่างที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงมะนิลา ทั้งคู่เปิดฉากทัวร์เอเชีย-แปซิฟิก เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอิทธิพลของวอชิงตันในภูมิภาค ในความท้าทาย "ปักกิ่ง" ที่มีแนวโน้มว่าเป็นภัยท้าทายทางยุทธศาสตร์
"ตอนนี้เรากำลังจัดสรรเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ฟิลิปปินส์เพิ่มเติมอีก 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงกับพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดตามสนธิสัญญาของเราในภูมิภาค" บลิงเคนกล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ เอ็นริโก มานาโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างของประเทศของมะนิลา และกิลเบิร์ต ทีโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหม
บลิงเคน ให้คำจำกัดความเงินช่วยเหลือดังกล่าวว่าเป็น "การลงทุนที่ยุคสมัยหนึ่งจะมีเพียงครั้งเดียว" เพื่อช่วยปรับปรุงกองทัพและยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ให้มีความทันสมัย ส่วน ออสติน บอกว่าเงินทุนดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ "ที่จะใช้มาตรการที่ชัดเจนต่างๆ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่พันธมิตรของเรา เรากำลังทำงานเพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ร่วมของเรา ในเรื่องอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง นี่คือระงับเงินสนับสนุนที่ไม่เคยมีมาก่อน"
ด้าน ทีโอโดโร บอกว่าเงินช่วยเหลือนี้จะช่วยส่งเสริมอย่างมหาศาลต่อศักยภาพด้านการป้องกันตนเองของฟิลิปปินส์ ขณะที่ มานาโล ระบุฟิลิปปินส์ ยินดีต่อการที่สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญาที่เข้มแข็งที่มีต่อพันธมิตร
ก่อนหน้านี้ บลิงเคน และออสติน พบปะกับประธานาธิบดิเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งกล่าวขอบคุณพวกเขาสำหรับความช่วยเหลือที่ทำให้ฟิลิปปินส์ "มีความคล่องตัวกว่าเดิมในแง่ของการตอบสนอง" ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก คำที่มะนิลาใช่อ้างถึงพื้นที่หนึ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเกิดการเผชิญหน้าลุกลามบานปลายมาแล้วหลายรอบระหว่างเรือฟิลิปปินส์และเรือจีน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ปักกิ่งกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ต่างๆ ของทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด พวกเขาสร้างเกาะเทียม ติดตั้งอุปกรณ์เต็มรูปแบบในลานบินรูปแบบทหารและท่าเรือต่างๆ และเมื่อเร็วๆ
นี้เพิ่งบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้ยามชายฝั่งใช้กองกำลังถึงตายกับเรือของต่างชาติที่เข้ามาในน่านน้ำต่างๆ ที่พวกเขากล่าวอ้างกรรมสิทธิ์
คำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน ทับซ้อนกับคำกล่าวอ้างโต้แย้งของบรรดาชาติเพื่อนบ้านแถบอาเซียนหลายประเทศ ในนั้นรวมถึงบรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ท่ามกลางความตึงเครียดดังกล่าว มะนิลาเริ่มปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย จากเดิมที่เป็นหนึ่งในชาติที่อ่อนแอที่สุดในเอเชีย และยกระดับแสนยานุภาพของยามชายฝั่ง
เหตุการณ์ต่างๆ ในทะเลจีนใต้ยังก่อความกังวลเพิ่มขึ้นว่า วอชิงตันอาจถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งกับปักกิ่ง สืบเนื่องจากสนธิสัญากลาโหมร่วมที่ทำไว้กับมะนิลา
(ที่มา : อัลจาซีราห์)