สหรัฐฯ มาถึงอีกหนึ่งหมุดหมายแห่งสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ หลังตัวเลขหนี้ของประเทศพุ่งผ่านระดับ 35 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของคณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรอเมริกา เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.)
โจดีย์ อาร์ริงตัน ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน ให้คำจำกัดความพัฒนาการดังกล่าวว่าเป็น "หมุดหมายที่น่ากังวล" พร้อมเรียกร้องให้จัดทำงบประมาณทางการคลังและใช้จ่ายด้วยความรับผิดชอบ เพื่อแก้ไขหนี้สาธารณะของประเทศที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
"วันนี้เราหม่นหมองกับอีกหนึ่งหมุดหมายที่น่ากังวล ในภาวะเสื่อมถอยทางการคลัง ในประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดและรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์" อาร์ริงตันกล่าวในถ้อยแถลง พร้อมแสดงความหวังว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันของเขาจะสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายน
ตัวเลขหนี้ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ฝ่ายหลังจะให้สัญญาซ้ำๆ ว่าจะลดยอดหนี้สาธารณะของประเทศระหว่างการหาเสียงศึกเลือกตั้งปี 2016
ตอนที่ ทรัมป์ พ้นจากตำแหน่ง ตัวเลขหนี้ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 27.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้ยืมเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
ทั้งนี้ ยอดหนี้ของอเมริกายังคงเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ภายใต้การบริหารงานของไบเดน โดยตอนนี้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันนำพาประเทศสร้างสถิติใหม่เป็นหนี้ทะลุหลัก 35 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้อัตราการกู้ยืมจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งสมัยแรกของไบเดน เมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ แต่ตอนนี้ยอดหนี้เร่งตัวขึ้น โดยแค่ในปีนี้ปีเดียว สหรัฐฯ ก่อหนี้เพิ่มเติมไปแล้วอีกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่หากนับในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยอดหนี้เพิ่มขึ้นมาราว 2.35 ล้านล้านดอลลาร์
จากการคำนวณของคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พบว่าเวลานี้ตัวเลขนี้เท่ากับ 104,497 ดอลลาร์ต่อหัว หรือ 266,275 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน
นโยบายการคลังที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว โดยหน่วยงานแห่งนี้ระบุว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณและระดับหนี้ของวอชิงตันกำลังก่อความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกทั้งมวล
"ตัวเลขขาดดุลและหนี้ในระดับสูงเช่นนี้ ก่อความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาซึ่งต้นทุนการเงินการคลังที่สูงขึ้นและก่อความเสี่ยงมากขึ้นต่อหนี้ที่ใกล้กำหนดชำระ" ไอเอ็มเอฟระบุในถ้อยแถลง พร้อมบอกว่า "การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังเช่นนี้เป็นตัวแทนของนโยบายการคลังที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจัดการเป็นการด่วน"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)