(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Trump-Vance would focus more on China than Russia
By STEFAN WOLFF And DAVID HASTINGS DUNN
19/07/2024
เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลือก เจ.ดี. แวนซ์ วุฒิสมาชิกหนุ่มจากรัฐโอไฮโอ [1] ให้เป็นคู่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมของเขา เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มันก็จุดชนวนให้เกิดความหวาดผวาแผ่กว้างไปในยุโรปว่า พวกเขากำลังจะถูกอเมริกาทอดทิ้งแล้ว เนื่องจากแวนซ์เป็นที่รู้จักขึ้นชื่อ [2] ในเรื่องมีท่าทีคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน และการที่เขาแทบมุ่งโฟกัสสนใจอยู่แต่เรื่องจีนเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เวลาพูดจาถึงสิ่งที่เป็นความท้าทายทางด้านความมั่นคงสำหรับสหรัฐฯ
ถ้าหากทรัมป์ชนะในเดือนพฤศจิกายน แวนซ์ในฐานะรองประธานาธิบดีของเขา ก็น่าจะยิ่งมีบทบาทในการกำหนดปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯให้ยิ่งถอยห่างออกมาจากพื้นที่ยุโรป-แอตแลนติก และหันมาเพ่งเล็งเน้นหนักที่อินโด-แปซิฟิก แล้วเมื่อพิจารณาถึงเรื่องที่ แวนซ์ น่าจะมีความทะเยอทะยานมุ่งหวังตำแหน่งประธานาธิบดีในยุคภายหลังทรัมป์ด้วยแล้ว เรื่องนี้ก็จะมีนัยอันสำคัญล้ำเกินเลยไปจากสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีวาระที่สองของทรัมป์เสียด้วยซ้ำ
ด้วยการเลือกแวนซ์มาเป็นรองประธานาธิบดีของเขา ก็คือทรัมป์กำลังวางแผนจะทำให้แบรนด์ลัทธิประชานิยมอเมริกันของเขา มีความคงทนถาวรมากยิ่งขึ้น มันเป็นการเลือกซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นว่าอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ในเวลานี้สามารถควบคุมเหนือพรรครีพับลิกันตลอดจนทิศทางอนาคตของพรรคนี้ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เหนืออื่นใดเลย การที่แวนซ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคู่เข้าชิงตำแหน่งในทีมของทรัมป์เช่นนี้ ยังเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการสิ้นสุดของยุคสมัยที่สหรัฐฯมีฉันทามติที่จะใช้นโยบายการต่างประเทศแบบนักสากลนิยม (internationalist US foreign policy consensus) อย่างที่ดำเนินมาโดยตลอดภายหลังจากปี 1945
ด้วยเหตุนี้ พวกผู้นำยุโรปจึงรู้สึกวิตกว้าวุ่นใจอย่างสมเหตุสมผลทีเดียว [3] ในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯจะยังคงมุ่งมั่นรักษาพันธะที่มีอยู่กับความมั่นคงของยุโรปต่อไปหรือไม่ เพียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้เอง ณ เวทีประชุมอภิปรายเกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศที่เมืองมิวนิก, เยอรมนี เดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวออกมาว่า [4] แวนซ์ ได้บอกกับพวกคู่สนทนาชาวยุโรปของเขาว่า เขา “มีความสนใจยิ่งกว่านักหนาในปัญหาบางอย่างบางอย่างในเอเชียตะวันออกเวลานี้ ยิ่งกว่าที่ผมมีความสนใจปัญหาในยุโรป”
สำหรับแวนซ์แล้ว ทางเลือกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือต้องทุ่มเทให้แก่ทางใดทางหนึ่ง โดยไม่ต้องสนใจอีกทางหนึ่งเลย [5] เป็นต้นว่า อาวุธที่จัดส่งให้ยูเครนนั้น ควรจัดส่งไปให้ไต้หวันจะดีกว่า เมื่อเดือนเมษายน 2024 เขาเขียนบทความเนื้อหาเจ็บแสบชิ้นหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าบทความของนิวยอร์กไทมส์ [6] โดยเสนอแนะว่า แทนที่สหรัฐฯจะคอยจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครนเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่วอชิงตันสมควรทำมากกว่า คือการโน้มน้าวเคียฟให้ยอมยุติเป้าหมายที่จะฟื้นฟูอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ของพวกเขาขึ้นมาใหม่ภายในเส้นเขตพรมแดนซึ่งนานาชาติได้ให้การรับรองเอาไว้เมื่อปี 1991 และเริ่มต้นทำการเจรจากับรัสเซีย
นี่คือจุดยืนแบบเดียวกับของทรัมป์ อีกทั้งได้รับความชื่นชมซาบซึ้งจากประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลย ที่ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้ออกมาแถลงแสดงความยินดีในทันที [7] กับการที่ ทรัมป์ เลือก แวนซ์ เป็นคู่ชิงชัยในทีมของเขา
ถ้าอเมริกาตัดสินใจที่จะยุติความสนับสนุนที่ให้แก่ยูเครน มันก็แทบไม่มีลู่ทางความหวังอะไรเลยที่พวกชาติพันธมิตรยุโรปจะสามารถอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อปราศจากเทคโนโลยีการทหารอเมริกัน ตลอดจนการข่าวครองและเครือข่ายการสื่อสารที่สหรัฐฯเท่านั้นสามารถจัดหาให้ได้ ยูเครนก็จะไม่สามารถต้านทานการโจมตีอย่างไร้ความปรานีของรัสเซีย
แต่ทั้งๆ ที่ยุโรปแสดงความวิตกเรื่องที่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในความสนับสนุนซึ่งสหรัฐฯให้แก่ยูเครนในกรณีที่ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เยอรมนีกลับยังคงวางแผนการที่จะหั่นความช่วยเหลือทางทหารซึ่งให้แก่เคียฟลงมาครึ่งหนึ่งในปีหน้า [8] จากระดับ 8,000 ล้านยูโร (8,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่จัดให้ในปี 2024
ถ้ามองกันเพียงในแง่วัตถุอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องนี้สามารถได้รับการชดเชยจากข้อตกลง [9] ที่พวกชาติสมาชิกกลุ่ม จี7 ตกลงกันเอาไว้ระหว่างการประชุมซัมมิตของพวกเขาในอิตาลีเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งให้ใช้เม็ดเงินจำนวนปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์ที่เกิดขึ้นมาในฐานะดอกเบี้ยจากพวกทรัพย์สินรัสเซียที่ถูกฝ่ายตะวันตกอายัดเอาไว้ มาใช้เพื่อดำเนินการกู้เงินจำนวนราวๆ 50,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งจะใช้ในการสนับสนุนยูเครนต่อไป
แต่เมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงแง่มุมเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น ข้อเสนอของฝ่ายเยอรมนีที่จะตัดลดความช่วยเหลือแบบทวิภาคีที่ให้แก่ยูเครนเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นการส่งข้อความซึ่งสร้างความเสียหายในทางการเมืองเกินกว่านั้นมากมายนัก เพราะมันคือการบอกกล่าวว่าพวกชาติพันธมิตรสำคัญๆ ในยุโรปของเคียฟ ไม่น่าที่จะก้าวเข้ามาอุดช่องโหว่ใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการถอนตัวของสหรัฐฯในยุคทรัมป์ 2.0
มันจึงแทบไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย ที่แม้กระทั่งประธานาธิบดีของยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยังดูเหมือนมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นมาในอนาคตเช่นนี้ ตอนนี้เขาจึงกำลังส่งส่งสัญญาณ [10] ว่า เวลาสำหรับการเจรจากับรัสเซียอาจจะใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว
ยุโรปถูกเปิดโปง
ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การก้าวร้าวรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน ถือเป็นการสำแดงอย่างชัดเจนถึงภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดและเฉพาะหน้าที่สุดต่อความมั่นคงปลอดภัยของยุโรป กระทั่งหากสงครามคราวนี้ยุติลงโดยผ่านการทำความตกลงภายหลังการเจรจากัน สิ่งนี้ก็จะแทบไม่ช่วยเพิ่มพูนยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปในระยะยาวไกลต่อไปข้างหน้าอยู่นั่นเอง
ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว รัสเซียของปูตินได้เคยพิสูจน์ให้เห็นมาก่อนแล้วว่าเป็นคู่เจรจาที่ไม่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้ อย่างที่การพังครืนลงมาของข้อตกลงหยุดยิงกรุงมินสก์ปี 2014 และปี 2015 (the 2014 and 2015 Minsk ceasefire agreements) [11] ได้สาธิตให้เห็นอย่างชัดเจน มันเป็นเส้นทางไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพ และรัสเซียก็เลือกที่จะไม่เดินไปบนเส้นทางสายนี้ ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าข้อตกลงใหม่ใดๆ ที่อาจทำกับ ปูติน ในอนาคตข้างต้นจะมีชะตากรรมใดๆ ที่ดีขึ้นกว่านี้
สิ่งที่น่าวิตกมากขึ้นไปอีกก็คือ การทำข้อตกลงใดๆ กับรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครนครั้งนี้ น่าที่จะเร่งทวีความหวาดกลัวที่มีกันอยู่แล้วในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯกำลังทอดทิ้งยุโรป โดยจากการที่สงครามรุกรานยูเครนเดินไปสู่จุดยุติ –ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น คณะบริหารในวอชิงตันที่อาจจะนำโดย ทรัมป์ ก็จะรู้สึกมั่นอกมั่นใจยิ่งขึ้นสำหรับการปักหมุดให้น้ำหนักเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของตนอย่างเต็มพิกัดไปที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และมุ่งโฟกัสไปที่จีนล้วนๆ
พวกกลุ่มพลังที่เป็นพันธมิตรกับทรัมป์ทั้งทางฝั่งขวาสุดโต่งและทางฟากซ้ายสุดขั้วซึ่งกำลังก้าวผงาดขึ้นมาในยุโรป น่าที่จะมองเรื่องนี้ว่าเป็นโอกาสสำหรับการโฆษณาป่าวร้องเพื่อเอาอกเอาใจรัสเซียและลดงบประมาณกลาโหมให้ต่ำลง ขณะที่ภายในทำเนียบขาวซึ่งมีทัศนะต่อโลกแบบมุ่งโฟกัสอยู่แต่ที่จีน การมุ่งหวังเอาชนะใจรัสเซียให้หันมาอยู่ข้างอเมริกันจะกลายเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวอย่างหนึ่งไปเลย [12]
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว นี่จะกลายเป็นความโง่เขลาที่สาหัสร้ายแรงยิ่ง และกำลังก่อให้เกิดอันตรายแก่ความมั่นคงของยุโรปในระยะยาว มันจะไม่เพียงเป็นแค่การให้ความไว้วางใจแก่คณะผู้นำรัสเซียที่ไม่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้เท่านั้น แต่มันยังจะเป็นการละเลยเมินเฉยต่อความสำคัญของจีนเมื่อคำนึงถึงความมั่นคงของยุโรปอีกด้วย
การที่สหรัฐฯปักหมุดให้น้ำหนักไปที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และมุ่งโฟกัสไปที่อินโด-แปซิฟิกล้วนๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทำให้จีนได้รับประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นการสมเหตุสมผลที่จีนจะหาทางใช้รัสเซียในฐานะเป็นตัวแทนรายหนึ่ง เพื่อก่อกวนสร้างความยุ่งยากวุ่นวายขึ้นในยุทธบริเวณยุโรป-แอตแลนติก ทั้งนี้ นอกเหนือจากข้อดีอย่างอื่นๆ แล้ว การทำเช่นนี้ยังจะเป็นการบ่อนทำลายลู่ทางความเป็นไปได้ที่ยุโรปอาจจะให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่สหรัฐฯในอินโด-แปซิฟิกอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น มันยังเป็นการประเมินให้น้ำหนักต่ำเกินไปแก่เรื่องที่ว่า รัสเซียกับจีนถือเป็นปัญหาความมั่นคงร่วมกันสำหรับทั้งสหรัฐฯและยุโรป ความพยายามของมอสโกและปักกิ่งที่จะก่อรูปรวมตัวกันทางการทหาร, การเมือง, และทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้ถ่วงดุลกับสหรัฐฯและยุโรป เวลานี้อาจจะยังคงเพิ่งก่อตัวอยู่ในวัยทารกคลานต้วมเตี้ยมเท่านั้น ทว่าพวกเขากำลังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องนี้มีหลักฐานสามารถมองเห็นได้มากมายทีเดียว [13] ณ การประชุมซัมมิตเมื่อตอนต้นเดือนกรกฎาคม 2024 นี้ ขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation หรือ SCO) ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนต่างเป็นชาติสมาชิกชั้นนำ
ดังนั้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับความมั่นคงของยุโรป โดยเบื้องต้นเลยจึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า ทรัมป์ กับ แวนซ์ ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนโฟกัสจากการจับจ้องรัสเซีย โดยหันมาเน้นหนักที่จีน แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนี้จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของประชาคมความมั่นคงแห่งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีรากเหง้าต้นตอจากกฎบัตรแอตแลนติกปี 1941 (the 1941 Atlantic Charter) [14] และถือเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญๆ ของความมั่นคงระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การก่อตั้งองค์การนาโต้ขึ้นมาในปี 1949
การยังความอ่อนแอให้แก่ความเชื่อมโยงระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติกเช่นนี้ จะกลายเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นเลยแก่กลุ่มพันธมิตรแห่งยูเรเชียระหว่างจีน-รัสเซียที่กำลังก่อตัวปรากฏตัวขึ้น ด้วยเหตุนี้ การที่สหรัฐฯจะถอยห่างจากบทบาทแต่ไหนแต่ไรมาของตนในฐานะของการเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่ความมั่นคงของยุโรป จะกลายเป็นการสร้างความท้าทายอย่างมากมายมหาศาลให้แก่ยุโรป โดยเรื่องนี้รวมไปถึงว่ายุโรปมีการเตรียมตัวพรักพร้อมแค่ไหนสำหรับการใช้จ่ายในด้านกลาโหมของตนเอง ตลอดจนยุโรปจะมีการจัดองค์กรกันอย่างไรในการตอบโต้รับมือทางยุทธศาสตร์ต่อความเป็นจริงใหม่ๆ เหล่านี้
สเตฟาน วูลฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม, สหราชอาณาจักร ส่วน เดวิด เฮสติงส์ ดันน์ เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ในภาควิชารัฐศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา ของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/a-trump-vance-white-house-could-undermine-european-security-and-end-up-pushing-russia-and-china-closer-234933
เชิงอรรถ
[1] https://www.reuters.com/world/us/jd-vance-once-compared-trump-hitler-now-they-are-running-mates-2024-07-15/
[2] https://www.nytimes.com/2024/07/15/world/europe/ukraine-jd-vance.html
[3] https://www.reuters.com/world/europe/europeans-alarmed-by-trump-vp-pick-vances-opposition-ukraine-aid-2024-07-16/
[4] https://www.reuters.com/world/europe/europe-seeks-sway-trump-camp-nato-ukraine-aid-2024-02-18/
[5] https://asia.nikkei.com/Opinion/J.D.-Vance-pick-as-Trump-VP-signals-support-for-Taiwan-over-Ukraine
[6] https://www.nytimes.com/2024/04/12/opinion/jd-vance-ukraine.html
[7] https://www.reuters.com/world/russia-ready-work-with-any-us-leader-says-lavrov-2024-07-17/
[8] https://www.reuters.com/world/europe/germany-halve-military-aid-ukraine-despite-possible-trump-white-house-2024-07-17/
[9] https://theconversation.com/g7-overcomes-internal-wrangling-and-irrelevance-barbs-to-strike-us-50-billion-deal-to-support-ukraine-232308
[10] https://www.reuters.com/world/europe/zelenskiy-aims-be-ready-second-peace-summit-november-2024-07-15/
[11] https://epicenter.wcfia.harvard.edu/blog/through-ashes-minsk-agreements
[12] https://www.russiamatters.org/analysis/kissinger-russia-insights-and-recommendations
[13] https://theconversation.com/xi-and-putin-talk-up-growth-of-their-eurasian-bloc-organisation-as-counterweight-to-nato-234100
[14] https://history.state.gov/milestones/1937-1945/atlantic-conf