รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศวานนี้ (22 ก.ค.) ว่าจะยังคงยืนกรานในสิทธิเหนือน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ หลังบรรลุข้อตกลงกับจีนว่าด้วยการส่งเสบียงให้แก่ทหารฟิลิปปินส์ที่ประจำการบนซากเรือรบเหนือสันดอน Second Thomas Shoal
ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนและกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงนี้ แต่ทางการมะนิลายืนยันว่า “จะไม่ใช้อคติต่อจุดยืนของแต่ละชาติ”
“ในความปรารถนาของเราที่จะลดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และจัดการความเห็นต่างด้วยแนวทางสันติวิธี เราขอย้ำว่าข้อตกลงฉบับนี้ถูกทำขึ้นด้วยเจตนาที่ดี และฟิลิปปินส์ก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม” กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลง
“เราขอเรียกร้องให้ฝ่ายจีนปฏิบัติด้วยเช่นกัน”
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมายืนยันว่า มีการบรรลุ “ข้อตกลงชั่วคราว” กับฟิลิปปินส์ว่าด้วยการจัดการความขัดแย้งทางทะเลและลดความตึงเครียด
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ รวมถึงสันดอน Second Thomas Shoal ซึ่งฟิลิปปินส์เอาซากเรือรบ Sierra Madre ไปจอดเกยตื้นเอาไว้เมื่อปี 1999 ในความพยายามที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว
มะนิลาได้นำเรือขนเสบียงอาหารไปส่งให้ทหารที่ประจำการอยู่บนสันดอนปะการังแห่งนี้เป็นประจำ จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกับหน่วยยามฝั่งของจีน
กระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงย้ำข้อเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ลากเรือรบลำนี้ออกไปจากสันดอน Second Thomas Shoal และยืนยันว่าจะไม่ยินยอมให้มะนิลาขนอุปกรณ์ก่อสร้างจำนวนมากๆ เข้าไปยังสันดอนแห่งนี้
“จนกว่าเรือรบลำนี้จะถูกลากออกไป หากฟิลิปปินส์จำเป็นต้องส่งปัจจัยยังชีพที่จำเป็นให้แก่บุคลากรที่อาศัยอยู่บนเรือรบ จีนก็เต็มใจที่จะเปิดทางให้ด้วยสปิริตมนุษยธรรม ขอเพียงฟิลิปปินส์แจ้งล่วงหน้า และหลังจากที่มีการตรวจสอบแบบ on-site แล้ว” กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุ
ก่อนหน้านี้ ทางการฟิลิปปินส์เคยประกาศ “ไม่เห็นด้วย” ที่จะต้องแจ้งภารกิจส่งเสบียงให้จีนทราบล่วงหน้า เพราะถือเป็นอำนาจที่มะนิลากระทำได้โดยชอบธรรมอยู่แล้ว และมุมมองนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแม้จะมีการทำข้อตกลงกับจีนก็ตาม
“หลักการและแนวทางในข้อตกลงนี้เกิดจากการปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเปิดทางให้มีการเสนอแนวคิดที่บรรจบกัน โดยไม่มีการประนีประนอมจุดยืนของชาติ” กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์อธิบาย
“ดังนั้น การที่โฆษกจีนออกมาพูดถึงการแจ้งล่วงหน้า และตรวจสอบแบบ on-site จึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน”
รัฐบาลจีนปฏิเสธคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกในปี 2016 ซึ่งระบุว่าจีนไม่มีพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวางเช่นที่ทำอยู่ หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้นำข้อพิพาทนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาล
ที่มา : รอยเตอร์