xs
xsm
sm
md
lg

ระบบไอทีทั่วโลกกลับมาออนไลน์ การบิน-ธนาคาร-สื่อทยอยให้บริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สายการบิน ธนาคาร และธุรกิจสื่อทั่วโลกเริ่มกลับมาให้บริการได้อีกครั้งอย่างช้าๆ เมื่อวันเสาร์ (20 ก.ค.) หลังระบบไอทีล่มครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา อันมีสาเหตุมาจากการอัปเดตโปรแกรมต่อต้านไวรัสคราวด์สไตรก์ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งเตือนว่า อาจมีความพยายามต้มตุ๋นเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ ซึ่งรวมถึงการเสนอช่วยรีบูตคอมพิวเตอร์ ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้กรณีนี้สะท้อนว่า ผู้คนและบริษัทมากมายพึ่งพิงบริษัทเทคโนโลยีเพียงไม่กี่แห่งอย่างมาก

ผู้โดยสารมากมายติดค้างในสนามบินในประเทศต่างๆ เมื่อวันศุกร์ (19 ก.ค.) ขณะที่สายการบินนับสิบแห่งต้องยกเลิกการให้บริการหลังจากการอัปเดตโปรแกรมที่รันบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ของไมโครซอฟท์ส่งผลให้ระบบไอทีล่มทั่วโลก

ต่อมาในวันเสาร์ เจ้าหน้าที่เผยว่า สถานการณ์ในสนามบินทั่วเยอรมนีและฝรั่งเศสเริ่มกลับสู่ปกติ เช่นเดียวกับสนามบินทั่วเอเชียและสายการบินหลายแห่งของอเมริกา

แอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำชื่อดังเผยว่า ยังคงพยายามฟื้นระบบออนไลน์ และกำลังทำงานแข่งกับเวลาเพื่อฟื้นระบบควบคุมการบริการผู้โดยสารภาคพื้นดิน ขณะที่สื่อของทางการจีนเผยว่า สนามบินในปักกิ่งไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ตามความเข้าใจ เที่ยวบินทั่วประเทศกลับมาให้บริการได้แล้ว แม้ว่ายังมีการติดขัดบางอย่างก็ตาม

วันเดียวกันนั้น ไมโครซอฟท์ประเมินว่า อุปกรณ์ที่ใช้วินโดว์ 8.5 ล้านเครื่องได้รับผลกระทบจากระบบไอทีล่มทั่วโลก ซึ่งแม้คิดเป็นเพียงไม่ถึง 1% ของอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้วินโดว์ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างสะท้อนถึงการใช้โปรแกรมต่อต้านไวรัสคราวด์สไตรก์ของธุรกิจต่างๆ จำนวนมากที่เป็นผู้ให้บริการที่สำคัญ

ไมโครซอฟท์แจงว่า ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 19.00 น. วันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) ตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช (02.00 น. วันศุกร์ตามเวลาไทย) และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้วินโดว์ที่รันซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของคราวด์สไตรก์ ฟัลคอน

ทางด้านคราวด์สไตรก์โพสต์บนบล็อกเมื่อวันเสาร์ว่า บริษัทเผยแพร่อัปเดตเมื่อคืนวันพฤหัสฯ ที่ทำให้ระบบล่มและหน้าจอโชว์ข้อความ “จอฟ้ามรณะ” เตือนว่าเกิดข้อผิดพลาดร้ายแรง

คราวด์สไตรก์เสริมว่า ได้เผยแพร่วิธีแก้ปัญหาแล้ว และจอร์จ เคิร์ตซ์ ประธานบริษัท ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า ต้องการขอโทษทุกองค์กร ทุกกลุ่ม และผู้ใช้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบเป็นการส่วนตัว บริษัทแห่งนี้สำทับว่า อาจใช้เวลาอีก 2-3 วัน สถานการณ์จึงจะกลับสู่ปกติอย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (เอ็นเอชเอส) ล่มเมื่อวันศุกร์ ส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถเข้าถึงประวัติผู้ป่วยและตารางการนัดตรวจ อย่างไรก็ดี โฆษกเอ็นเอชเอสเผยว่า ระบบส่วนใหญ่กลับมาออนไลน์แล้ว แต่ยังทำงานช้ากว่าปกติและอาจมีการหยุดชะงักต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

บริษัทสื่อต่างๆ ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เช่น สกาย นิวส์ของอังกฤษ ที่เผยว่า ไม่สามารถรายงานข่าวได้ตั้งแต่เช้าวันศุกร์

หน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษ ออสเตรเลีย และเยอรมนีเตือนว่า อาจมีความพยายามต้มตุ๋นเพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ ซึ่งรวมถึงการเสนอช่วยรีบูตคอมพิวเตอร์ และการขอข้อมูลส่วนตัวหรือรายละเอียดบัตรเครดิต

แบงก์ในเคนยาและยูเครนรายงานปัญหาในการให้บริการระบบดิจิทัล และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบางแห่ง รวมถึงบริการลูกค้าของบริษัทจำนวนมากไม่สามารถให้บริการได้

จูเนดอาลี จากสถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยีของอังกฤษ ระบุว่า ระดับความรุนแรงของปัญหาครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแน่นอนว่า จะต้องถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ โดยกรณีระบบไอทีล่มที่รุนแรงในระดับเดียวกันนี้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2017

บริษัทมากมายถูกทิ้งให้หาทางแก้ไขระบบเองและกำลังพยายามประเมินความเสียหาย แม้เจ้าหน้าที่ รวมถึงคราวด์สไตรก์พยายามบรรเทาความตื่นตระหนกโดยยืนยันว่า ปัญหาขัดข้องนี้ไม่ได้เกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ก็ตาม

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากตั้งคำถามว่า แม้คราวด์สไตรก์เผยแพร่วิธีแก้ไข แต่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หลายล้านคนอาจไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้

ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้ควรเตือนให้มีการพิจารณากันอย่างกว้างขวางว่า สังคมพึ่งพิงบริษัทเทคโนโลยีเพียงไม่กี่แห่งอย่างมาก

จอห์น แม็กเดอร์มิด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยอร์กในอังกฤษ ชี้ว่า สังคมควรตระหนักว่า ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบมากมายล่มพร้อมกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อปัญหาที่มีสาเหตุร่วมกันดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น