xs
xsm
sm
md
lg

จีนเน้นหนัก‘การพึ่งตนเอง’ในการประชุมครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งรูดม่านเสร็จสิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา


คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ลงมติรับรองแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของตนระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคมที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Beijing highlights self-reliance at Third Plenum
By JEFF PAO
20/07/2024

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง ว่ามีการเห็นชอบแผนการซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น พร้อมด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ในระยะยาว ขณะที่นักวิชาการไต้หวันได้โอกาสวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่ง รวมทั้งตัว สี จิ้นผิง ซึ่งถูกวาดภาพให้เป็น “นักปฏิรูปสูงสุด” ของแดนมังกร

การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ชุดที่ 20 เสร็จสิ้นลงเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยมีการรับรองแผนระยะห้าปีฉบับหนึ่งซึ่งมุ่งหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน และผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้คืบหน้าต่อไปอีก

คณะกรรมการกลาง พคจ. ชุดนี้ซึ่งมีจำนวนราวๆ 200 คน ได้พิจารณาและลงมติรับรองแผนการดังกล่าวข้างต้นที่ใช้ชื่อว่า “ญัตติว่าด้วยการปฏิรูปโดยรอบด้านให้หยั่งรากลึกต่อไปอีกเพื่อทำให้กระบวนการสู่ความทันสมัยของจีนก้าวหน้าไป” (Resolution on Further Deepening Reform Comprehensively to Advance Chinese Modernization) ระหว่างการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 เป็นเวลา 4 วันคราวนี้

สมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลางที่มีจำนวนทั้งสิ้น 165 คน รวมทั้งพวกเจ้าหน้าด้านวินัยบางคน, นักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญ, และตัวแทน พคจ. อื่นๆ จำนวนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะครั้งนี้ด้วย จวบจนถึงวันศุกร์ (19 ก.ค.) ญัตตินี้ในเวอร์ชั่นเป็นทางการฉบับเต็ม ยังไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่ แต่พวกเจ้าหน้าที่ พคจ. หลายรายก็ได้แจกแจงรายละเอียดเนื้อหาของญัตตินี้ให้ทราบกัน ณ การประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

“ญัตติฉบับนี้ ซึ่งถือการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นหัวหอก เป็นการวางแผนอย่างรอบด้านสำหรับการปฏิรูปในแวดวงอันหลากหลายและในแง่มุมอันหลากหลาย ” ถัง ฟังอี้ว์ (Tang Fangyu) รองผู้อำนวยการ (deputy head) สำนักงานวิจัยนโยบาย (Policy Research Office) แห่งคณะกรรมการกลาง พคจ. กล่าวในการประชุมแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (19 ก.ค.) และระบุว่า “ญัตติฉบับนี้บรรจุเอาไว้ด้วยมาตรการการปฏิรูปสำคัญๆ มากกว่า 300 มาตรการ ทั้งหมดต่างเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในระดับของระบบต่างๆ, กลไกต่างๆ, และสถาบันต่างๆ”

ถัง บอกว่า กระบวนการมุ่งสู่ความทันสมัยที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องของจีน ต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาอันสลับซ้บซ้อนจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปต่างๆ อย่างรอบด้านให้หยั่งลึกยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิต (relations of production)ปรับตัวเข้ากับพลังการผลิต (productive forces) ได้ดียิ่งขึ้น, โครงสร้างส่วนบน (superstructure) ปรับตัวเข้ากับฐานทางเศรษฐกิจ (economic base) ได้ดียิ่งขึ้น, และ การบริหารในระดับชาติ (national governance) ปรับตัวเข้ากับการพัฒนาทางสังคม (social development) ได้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่ หัน เหวินซิ่ว (Han Wenxiu) รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแห่งสำนักงานคณะกรรมการกลางเพื่อกิจการการเงินและเศรษฐกิจ (Office of the Central Committee for Financial and Economic Affairs) กล่าวว่า จีนจะเร่งรัดความพยายามในการสร้างระบบตลาดที่มีมาตรฐานสูง (high-standard market system) ขึ้นมา โดยที่เรื่องนี้ยังคงเป็นภารกิจการปฏิรูปอันสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประเทศ

เขาย้ำว่าจะมีการใช้ความพยายามเพื่อสร้างตลาดระดับชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมไปถึงการพัฒนาตลาดที่ดินเพื่อการก่อสร้างทั้งในเขตเมือง-ในเขตชนบทซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, ตลาดข้อมูลและเทคโนโลยีซึ่งมีการบูรณาการกันทั่วประเทศ, และตลาดกระแสไฟฟ้าระดับชาติซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ก่อนหน้านั้น ในแถลงการณ์ของการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ที่เผยแพร่ออกมาตั้งแต่วันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) พคจ.ระบุว่า วัตถุประสงค์ต่างๆ โดยองค์รวมของการปฏิรูปอย่างหยั่งรากลึกโดยรอบด้าน คือการดำเนินการปรับปรุงและการพัฒนาระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนอย่างต่อเนื่อง และการสร้างความทันสมัยให้แก่ระบบและศักยภาพสำหรับการบริหารปกครองของจีน

“ภายในปี 2035 เราจะเสร็จสิ้นการสร้างเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีมาตรฐานสูงในทุกๆ ด้าน, ปรับปรุงยกระดับระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนให้คืบหน้าไปอีก, สร้างความทันสมัยโดยทั่วไปให้แก่ระบบและศักยภาพสำหรับการบริหารปกครองของเรา, และทำให้การสร้างความทันสมัยแบบสังคมนิยมกลายเป็นความจริงขึ้นมาโดยพื้นฐาน” แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุ

แถลงการณ์กล่าวต่อไปด้วยว่า ภารกิจการปฏิรูปต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ในญัตติฉบับนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลาก่อนการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2029 โดยที่จีนยังจะกลายเป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยที่ยิ่งใหญ่ในทุกๆ ด้านภายในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษนี้

‘ระมัดระวังอุดมการณ์ต่างด้าว’

แถลงการณ์และญัตตินี้ออกมาหลังจากที่ ฉิวสือ (Qiushi แปลว่า แสวงหาความจริง) วารสารทางทฤษฎีที่เป็นทางการของ พคจ. ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “ต้องธำรงรักษาความเชื่อมั่นตนเองและการพึ่งตนเอง” (Must maintain self-confidence and self-reliance)

บทความนี้ ซึ่งเป็นการวบรวมคำปราศรัยครั้งต่างๆ ที่ผ่านๆ มาของ สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่ พคจ. ระบุว่า จีนต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงในความเชื่อมั่นที่มีอยู่กับลัทธิมาร์กซ์ และในสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน บทความนี้กล่าวอีกว่า จีนไม่ควรที่จะ “กลืนกินแนวความคิดต่างด้าวโดยไม่นำเอามาย่อยเสียก่อน” หรือที่พูดกันเป็นภาษาจีนกลางว่า “สือ หยาง ปู๋ ฮั่ว” (Shi Yang Bu Hua)

วลีนี้ถูก สี นำมาใช้ในคำปราศรัยเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซที่เขากล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ในตอนนั้น สีบอกว่า จีนควรต้องยึดมั่นอยู่กับหลักการต่างๆ และระเบียบวิธีของเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบนักลัทธิมาร์กซ์ เมื่อจะนำเอาความรู้ทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของตะวันตกเข้ามาใช้งาน

เขากล่าวว่า ความรู้ของต่างประเทศที่สามารถช่วยเหลือจีนในการขยายการผลิตและในการขยายตลาด เป็นสิ่งที่สมควรจะดูดซับเข้ามา ทว่าพวกความรู้ซึ่งสะท้อนคุณสมบัติและค่านิยมของอุดมการณ์ทุกนิยมนั้นจะต้องไม่ลอกเลียนนำเอามาใช้ในจีน

“สือหยางปู๋ฮั่ว” ยังถูกใช้ในบริบทที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในบทความชิ้นอื่นๆ ของ พคจ. เพื่อเตือนให้ประชาชนระลึกว่าจีนควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างชาติ ทว่าต้องไม่ให้ตัวเองกลายเป็นตะวันตกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาดำเนินการปฏิรูประบบวัฒนธรรม, ระบบการเมือง, และระบบกฎหมายของตนเอง

สำหรับปฏิกิริยาจากทางไต้หวัน ปรากฎว่าพวกนักวิชาการที่นั่นได้ถือโอกาสวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ เป็นต้นว่า หง เหยาหนาน (Hung Yao-Nan) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยตัมกัง (Tamkang University) ได้กล่าวในเวทีอภิปรายแห่งหนึ่งในไต้หวันเมื่อวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) ว่า การที่ สี กำลังเรียกร้องให้ไปสู่ความทันสมัยแบบสังคมนิยมเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเขาปฏิเสธไม่ยอมรับเศรษฐกิจตลาดและระบบการเมืองแบบตะวันตก ซึ่ง หง กล่าวว่าเป็นสิ่งที่มีการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 400 ถึง 500 ปีที่ผ่านมา

หง ยังวิจารณ์เยาะๆ ว่า ทั้งๆ ที่เกิดความเพลี่ยงพล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเห็นๆ กันอยู่ในจีนในช่วงหลังๆ นี้ แต่ สี ยังคงเชื่อว่าโลกทุกวันนี้กำลังเกิด “การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตชนิดที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในรอบ 100 ปี” และอารยธรรมตะวันตกกำลังเสื่อมทรามลง ขณะที่อารยธรรมของจีนกำลังก้าวผงาดขึ้นมา

ทางด้าน หมิง จูเจิ้ง (Ming Chu-cheng) ศาสตราจารย์แห่งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) วิจารณ์ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของสี นั้นเป็นการกลับหัวกลับหางจากสิ่งที่ดำเนินการโดยอดีตผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง โดยที่ เติ้ง เปิดทางให้มีการกระจายอำนาจของรัฐบาลและส่งเสริมพวกนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น

หมิง เย้ยว่า ขณะที่ สี อ้างว่าสนับสนุนว่าเศรษฐกิจแบบตลาด แต่ในทางเป็นจริงแล้วเขากำลังทำสิ่งตรงกันข้ามด้วยการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่พวกรัฐวิสาหกิจในระบบเศรษฐกิจของจีน

ยกย่อง ‘สี’ มากเกินไป

ตอนที่วารสารฉิวสือ ตีพิมพ์เผยแพร่บทความของ สี ในวันที่ 15 กรกฎาคม สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหายกย่อง สี ว่าเป็น “นักปฏิรูปสูงสุด” (supreme reformist) ของจีน ซึ่งพวกไต้หวันเยาะหยันว่าเป็นตำแหน่งที่สูงส่งยิ่งกว่าที่เคยเรียกขาน เติ้ง ว่าเป็น “สถาปนิกแห่งการปฏิรุปทางเศรษฐกิจของจีน” เสียอีก

บทวิจารณ์ของซินหัวดังกล่าวบอกว่า สี เป็นนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งภายหลังจาก เติ้ง ในการกระทำภารกิจอย่างเดียวกันซึ่งได้แก่การนำจีนไปสู่ความทันสมัย ทว่าผู้นำสูงสุดของจีนทั้งสองคนเผชิญสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกัน

ในบทวิจารณ์นี้ ซินหัวกล่าวว่าตอนที่ เติ้ง เริ่มต้นการปฏิรูปแบบปล่อยเสรีขึ้นมาในจีนนั้น จีนมีระดับรายได้ของประชาชน ซึ่งวัดจากจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากร อยู่ที่ไม่ถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนที่ สี เข้ารับตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่ พคจ. ในปี 2012 นั้น จีนมีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว โดยที่ตัวเลขจีดีพีต่อหัวประชากรอยู่ในระดับสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ซินหัวชี้ว่าความได้เปรียบบางอย่างของจีน อย่างเช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำมาก เวลานี้กำลังสูญหายไปหมดแล้ว

“การปฏิรูปที่กระทำได้ง่ายๆ และสนุกสนาน มาถึงตอนนี้ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปแล้ว ชิ้นเนื้อแสนเอร็ดอร่อยถูกรับประทานไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่ยังเหลืออยู่คือพวกกระดูกทั้งนั้น” บทวิจารณ์นี้อ้างอิงคำพูดของ สี โดยที่ “กระดูก” มุ่งเปรียบเปรยให้เห็นว่า สิ่งที่ยังเหลืออยู่ คือการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่จะทำได้อย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม

ข้อเขียนชิ้นนี้ได้ยกย่อง สี สำหรับการทำให้จีดีพีจีนเติบโตขึ้นมาอีกเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2012 โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ เขา ได้เป็นผู้กำกับดูแลมาตรการปฏิรูปด้านต่างๆ มากกว่า 2,000 มาตรการ ปรากฏว่าบทวิจารณ์ชิ้นนี้ได้ถูกเอาออกจากอินเทอร์เน็ตที่มีการเซนเซอร์อย่างสูงมากของจีนไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม โดยไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ถึงแม้มันยังคงโพสต์ให้เข้าดูได้ในเว็บไซต์ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ

พวกคอนเมนเตเตอร์ไต้หวันบางคนให้ความเห็นว่า ข้อเขียนนี้ถูกเล่นงานเพราะมีเนื้อหาไม่ถูกต้องในทางการเมือง เนื่องจากยกย่องสรรเสริญความสำเร็จทางเศรษฐกิจของ สี มากเกินไป ในขณะที่สาธารณชนชาวจีนรู้สึกกันอยู่ในขณะนี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่ลง

อย่างที่ หยวน จูเจิ้ง (Yuan Juzheng) อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ให้ความเห็นเชิงเสียดสีไว้ในรายการทีวีรายการหนึ่งว่า ในขณะที่จีนกำลังเผชิญความท้าทายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง, วิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์, และการถูกต่างชาติปิดกั้นทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเลยที่จะตีพิมพ์บทความยกย่องสรรเสริญ สี ในตอนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น