เอเจนซีส์/เอพี - ระบบวินโดว์ทั่วโลกล่มราว 8.5 ล้านเครื่องในวันศุกร์ (19 ก.ค.) สร้างความแตกตื่นตั้งแต่เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาไม่ต่างวิกฤต Y2K ที่เคยเป็นกระแสในช่วงขึ้นศตวรรษใหม่ในยุคปลาย 90 หลัง CrowdStrike บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดทำพลาดอัปเดตซอฟท์แวร์แค่ครั้งเดียว สำนักงานกำกับไซเบอร์สหรัฐฯ CSIS ยืนยันไมโครซอฟท์ล่มวันศุกร์ (19 ก.ค.) "ไม่ใช่ก่อการร้าย" ผู้เชี่ยวชาญชี้ผลกระทบล่มลากยาวนานหลายสัปดาห์
ดิอิดินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานวันนี้ (21 ก.ค.) ว่า บริษัทไมโครซอฟท์ออกแถลงการณ์ว่า ปัญหา CrowdStrike ทำให้ระบบวินโดว์ร่วม 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลกตั้งแต่ระบบสายการบินในสหรัฐฯ ไปจนถึงระบบธนาคารที่ออสเตรเลีย และระบบสาธารณสุขอังกฤษ NHS รวมไปถึงห้างซูเปอร์มาร์เกตหลายสาขา แม้แต่วงร็อกอินเดียชื่อดัง Bombay Bicycle Club ต้องเลื่อนวันจัดงานเทศกาลดนตรีออกไป
แต่อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยืนยันว่ามีเครื่องวินโดว์น้อยกว่า 1% ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากระบบ CrowdStrike ล่ม เป็นตัวเลขที่มีการเปิดเผยเป็นครั้งแรกสู่สาธารณะนับตั้งแต่เกิดเรื่องในวันศุกร์ (19) เป็นวิกฤตทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
เอพีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางไซเบอร์ออสเตรเลีย Troy Hunt โพสต์บน x ระบุว่า “นี่เป็นสิ่งที่พวกเราเคยกังวลมาตลอดเกี่ยวกับ Y2K เว้นแต่มันเกิดขึ้นจริงๆ ในคราวนี้”
ด้าน เกร็กกอรี ฟาลโก (Gregory Falco) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลออกมาแสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากมีผู้เล่นน้อยในระบบและทุกคนยังต่างใช้บริการแค่เจ้าเดียวทำให้เมื่อเกิดปัญหาจึงล่มพร้อมกัน
“นี่เป็นถือเป็นคุณสมบัติของเทคโนโลยีเดี่ยวที่แพร่ไปทั่วทั้งกระดูกสันหลังของโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ของพวกเรา” และเสริมต่อว่า “เบื้องหลังของวิกฤตนี้คือพวกเราพึ่งพาเพียงแค่ไม่กี่บริษัท และทุกคนต่างใช้เจ้าเดียวกัน ทุกคนจึงเกิดล่มในเวลาเดียวกัน” เอพีรายงาน
ดิอินดีเพนเดนท์ชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผลกระทบจากวิกฤต CrowdStrike ล่มนั้นอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกที่จะยังคงนานเป็นเวลาหลายสัปดาห์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน IT ทั่วโลกในการที่จะกู้ได้โดยสมบูรณ์
เมื่อวานนี้ (20) กรมอำนวยการสัญญาณออสเตรเลีย ASD (Australian Signals Directorate) ซึ่งเป็นหน่วยงานข่าวกรองทางไซเบอร์ของประเทศแถลงว่า “มีเว็บไซต์มัลแวร์และโค้ดที่ไม่เป็นทางการถูกเผยแพร่ออกมาโดยอ้างว่าเพื่อช่วยในการกู้ระบบจากการล่มเป็นวงกว้างที่เกิดมาจากความผิดพลาดทางเทคนิคของ CrowdStrike”
สื่ออังกฤษรายงานว่า การล่มในวันศุกร์ (19) กระทบธนาคาร Commonwealth Bank of Australia ที่เป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศที่เปิดเผยว่า มีลูกค้าธนาคารบางส่วนไม่สามารถทำธุรกรรมการจ่ายเงินได้ แต่ทว่าปัญหาได้รับการแก้ไขหลังจากนั้น ขณะที่สายการบินแห่งชาติออสเตรเลีย แควนตัส และท่าอากาศยานซิดนีย์แถลงว่า เครื่องบินทำให้เกิดความล่าช้าแต่สามารถยังขึ้นบินได้
ด้านนายกเทศมนตรีรัฐมนตรี แอนโธนี อัลบานิส แถลงในช่วงดึกวันศุกร์ (19) ว่า ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานหลัก การบริการของรัฐและระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน ในฟากฝั่งอังกฤษ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ NHS ได้ออกมาเตือนว่า ระบบบริการทางการแพทย์ GP ของชาวแดนผู้ดีจะยังคงติดขัดต่อไปจนถึงสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ ผลกระทบยังเกิดขึ้น 2 ใน 3 ของระบบบริการทางการแพทย์ GP ในไอร์แลนด์เหนือ
ด้าน Techcrunch สื่อด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รายงานวันศุกร์ (19) ว่า บริษัท CrowdStrike ชื่อดังของสหรัฐฯ แถลงว่า การแก้ไขความผิดพลาดกำลังตามมาและการล่มเป็นวงกว้างไปทั่วโลกนี้ “ไม่ใช่การโจมตีทางไซเบอร์” แต่ทว่าการล่มของระบบเกิดมาจากการอัปเดตซอฟต์แวร์ของบริษัท
และภายในวันศุกร์ (19) หน่วยงานกำกับไซเบอร์ของสหรัฐฯ สำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์และความมั่นคงโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐฯ (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency) หรือ CISA ชี้แจงว่า ถึงแม้วิกฤตระบบล่มนี้จะไม่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย แต่ทว่าอาจเป็นโอกาสที่ผู้เล่นที่อยู่ในการจับตาฉวยโอกาสของเหตุวิกฤตในการล่อลวงและเคลื่อนไหวทางอาชญากรรมอื่นๆ ได้