นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการค้นพบถ้ำแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์ อยู่ไม่ไกลจากจุดที่ นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน สองนักบินอวกาศสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ 55 ปีก่อน และคาดว่าน่าจะยังมีถ้ำลักษณะนี้อยู่อีกหลายร้อยแห่งซึ่งอาจใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับนักบินอวกาศได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์อิตาลีรายงานเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ว่า พบหลักฐานการมีอยู่ของถ้ำขนาดใหญ่ในบริเวณจุดที่เรียกว่า “ทะเลแห่งความสงบเงียบ” (Sea of Tranquility) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดลงจอดของยานอะพอลโล 11 ไปราว 400 กิโลเมตร
หลุมถ้ำดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพังถล่มของท่อลาวา (lava tube) เช่นเดียวกับถ้ำลักษณะเดียวกันอีกกว่า 200 จุดที่พบในบริเวณนั้น
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ผลการตรวจวัดด้วยเรดาร์โดยยาน Lunar Reconnaissance Orbiter ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) จากนั้นก็นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับท่อลาวาที่มีอยู่บนโลก โดยผลการศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Astronomy
ข้อมูลจากเรดาร์เปิดเผยให้เห็นเฉพาะพื้นที่ส่วนหน้าของถ้ำใต้ดินซึ่งมีความกว้างอย่างน้อย 130 ฟุต (40 เมตร) และยาวหลายสิบเมตร หรืออาจจะมากกว่านั้น
“ถ้ำบนดวงจันทร์ยังคงเป็นปริศนามานานกว่า 50 ปี ดังนั้น การที่เราสามารถพิสูจน์ว่ามันมีอยู่จริงได้จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก” ลีโอนาร์โด คาร์เรอร์ และโลเรนโซ บรุซโซเน จากมหาวิทยาลัยเทรนโต ระบุในบทสัมภาษณ์ผ่านอีเมล
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หลุมถ้ำส่วนใหญ่ดูเหมือนจะตั้งอยู่บนที่ราบลาวาโบราณบนดวงจันทร์ และอาจจะมีอยู่บ้างบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งเป็นจุดที่นาซาเตรียมส่งนักบินอวกาศไปสำรวจในช่วงปลายทศวรรษนี้ ขณะที่หลุมในเงามืดที่เชื่อกันว่าอาจมีน้ำแข็งสะสมอยู่ก็อาจเป็นแหล่งน้ำดื่มและใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับจรวดได้
ผลการศึกษายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลุมถ้ำลักษณะนี้อาจมีอีกหลายร้อยแห่งบนดวงจันทร์ รวมถึงท่อลาวาอีกหลายพันจุด ซึ่งบางแห่งอาจใช้เป็นสถานที่พักพิงตามธรรมชาติสำหรับนักบินอวกาศเพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากรังสีคอสมิกและรังสีสุริยะ รวมไปถึงการตกของอุกกาบาตขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์บนดวงจันทร์อาจต้องใช้เวลานานและเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งของผนังถ้ำเพื่อป้องกันการพังถล่ม
หินและแร่ธาตุต่างๆ ที่พบในถ้ำเหล่านี้ยังอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิวัฒนาการของดวงจันทร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของกิจกรรมภูเขาไฟ
ที่มา : AP