xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งออกเดือนมิถุนายนพุ่งสูงขึ้น แนวโน้มยังบูมสนั่นที่‘ซีกโลกใต้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน


เรือสินค้าคอนเทนเนอร์เข้าเทียบขนสินค้าขึ้นลง ณ ท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองเหลียนอิ๋ว์นกั่ง เมืองท่าสำคัญในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีน ในภาพนี้ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s June export surge points to higher growth
By DAVID P GOLDMAN
12/07/2024

การพุ่งพรวดของการส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียกลาง สะท้อนให้เห็นถึงอานิสงส์ของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีแรงขับดันจากแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ใน “ซีกโลกใต้” (Global South)

ยอดส่งออกของจีนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า หากคำนวณเป็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงขึ้น 10.7% ถ้าคิดเป็นค่าเงินเหรินหมินปี้ของจีน แต่โดยสรุปก็คือมีการขยายตัวเกินกว่าการคาดหมายของพวกนักวิเคราะห์ อีกทั้งกำลังชี้ให้เห็นว่าแดนมังกรอาจจะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 ปีนี้ดีกว่าที่ทำนายกันเอาไว้

การส่งออกไปยังเอเชียกลาง เป็นภูมิภาคที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงอานิสงค์ของพลังสะสมที่จีนได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างขนานใหญ่ทั้งด้านการขนส่งและด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ผ่านแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)

Graphic: Asia TImes
การส่งออกไปยัง อาเซอร์ไบจาน, อาร์เมเนีย, คาซัคสถาน, และ คีร์กิซสถาน ต่างเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราสูงกว่า 30% ขณะที่จีนขยายสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางรางและการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ในตลอดทั่วทั้งยูเรเชีย โดยที่บางส่วนของยอดรวมนี้น่าที่จะสะท้อนถึงการส่งออกทางอ้อมไปยังรัสเซียด้วย

อย่างไรก็ดี การส่งออกอยู่ในสภาพที่เข้มแข็งตลอดทั่วทั้งหมดทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลงานที่แข็งแกร่งมากใน ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ การส่งออกไปยังบราซิลและเม็กซิโก ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด 2 แห่งของจีนในละตินอเมริกา ก็เพิ่มขึ้น 17%

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มการส่งออกไปยังซีกโลกใต้ (Global South พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา) ขึ้นเป็นสองเท่าตัว ขณะที่การส่งออกไปยังพวกตลาดพัฒนาแล้วมีการขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย

Graphic: Asia TImes
กระนั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งในการเติบโตของการส่งออกจีนที่ไปยังซีกโลกใต้นั้น ประกอบด้วยพวกสินค้าทุนและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ สำหรับการเข้าโรงงานเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการจำหน่ายขั้นสุดท้ายในสหรัฐฯ

Graphic: Asia TImes
การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ ได้เพิ่มขึ้นจากราวๆ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ไปเป็น  140,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็นำเข้าจากซีกโลกใต้เพิ่มขึ้นจากราวๆ 60,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน มาอยู่ที่ระดับราวๆ 90,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน

การส่งออกของจีนไปยังซีกโลกใต้ที่เพิ่มขึ้นมา 80,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเช่นนี้ จึงอาจคิดหยาบๆ ว่า ราวๆ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน คือส่วนที่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ความต้องการของสหรัฐฯ ดังนั้น ถึงแม้การที่อเมริกาขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 25% เอากับสินค้านำเข้าจากจีนแทบทุกอย่าง ได้หั่นการส่งออกโดยตรงจากจีนไปยังสหรัฐฯลงมาอย่างฮวบฮาบ ทว่าโดยรวมแล้วอเมริกากลับยังต้องพึ่งพาอาศัยห่วงโซ่อุปทานจีนมากยิ่งกว่าเดิม เพียงแต่ว่ากระทำผ่านพวกประเทศที่สาม

การส่งออกโดยตรงจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นมา 7.5% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ระดับยังคงอยู่ต่ำกว่าช่วงพีคในตอนโควิดระบาดอยู่แยะ

การขาดดุลการค้าของอเมริกาในการค้าที่อยู่ในรูปสินค้า เวลานี้ยืนอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีซึ่งถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ เปรียบเทียบกับระดับ 800,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงก่อนโควิด คณะบริหารไบเดนได้เติมเชื้อเพลิงให้แก่อุปสงค์ความต้องการในสินค้าผู้บริโภค ด้วยการเพิ่มเงินให้เปล่าที่โอนให้แก่พลเมืองสหรัฐฯ (ในตอนที่คณะบริหารไบเดนขึ้นครองอำนาจใหม่ๆ ตอนช่วงปลายๆ ของการระบาดใหญ่ของโควิด -ผู้แปล) แต่เวลาเดียวกันนั้น การลงทุนด้านทรัพย์สินประเภททุนในพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมการผลิตในโรงงานภายในประเทศของสหรัฐ กลับลดต่ำลงเมื่อคำนวณโดยตัดปัจจัยด้านเงินเฟ้อออกไป

ทั้งนี้หลังจากตัดเรื่องอัตราเงินเฟ้อ คำสั่งซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์สินค้าทุนที่ไม่ใช่ด้านกลาโหม (และยกเว้นพวกเครื่องบิน) ได้ลดลงมาอยู่ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ (คิดตามมูลค่าเงินดอลลาร์คงที่ ณ ปี 1982) ต่อเดือนในปี 2024 จากระดับ 38,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ทั้งนี้เป็นการเดินตามแนวโน้มของการตกต่ำลงมาในระยะยาวอยู่แล้ว

Graphic: Asia TImes
อุปสงค์ความต้องการล้นเกินที่สร้างขึ้นมาจากนโยบายทางการคลังของไบเดน เป็นตัวการทำให้สินค้านำเข้าไหล่บ่าท่วมท้นเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจำนวนมากมายเป็นสินค้าจากจีนไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

สภาพเช่นนี้ทำให้อเมริกาอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก การขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อมุ่งสกัดกั้นสินค้านำเข้าจากจีน อย่างที่พวกที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้เคยเสนอออกมา จะเป็นการเพิ่มราคาที่บรรดาผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่าย

และการขึ้นภาษีศุลกากรแบบทั่วทั้งหมดซึ่งเป็นนโยบายที่ชื่นชอบมากของบุคคลสำคัญๆ บางคนในทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์เวลานี้ ก็จะกลายเป็นทำให้ต้นทุนของสินค้าทุนเพิ่มสูงขึ้น, สกัดกั้นการลงทุน, และทำให้อเมริกันยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยการนำเข้าหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น