xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนหนังสตาร์วอร์ส! เกาหลีใต้เตรียมใช้ ‘อาวุธเลเซอร์’ ยิงทำลายโดรนเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกาหลีใต้มีแผนประจำการ “อาวุธเลเซอร์” เพื่อใช้ยิงทำลายอากาศยานไร้คนขับของเกาหลีเหนือภายในปีนี้ โดยจะถือเป็นชาติแรกในโลกที่มีการนำระบบอาวุธดังกล่าวเข้าประจำการในกองทัพ

เกาหลีใต้ยังตั้งชื่อโครงการอาวุธเลเซอร์นี้ว่า “สตาร์วอร์ส โปรเจกต์” (Star Wars Project)

สำนักงานบริหารโครงการจัดซื้ออาวุธของเกาหลีใต้ (DAPA) แถลงวันนี้ (11 ก.ค.) ว่า กองทัพเกาหลีใต้ได้ร่วมกับบริษัท ฮันวา แอโรสเปซ (Hanwha Aerospace) พัฒนาอาวุธเลเซอร์ทำลายโดรนที่ทั้งมีประสิทธิภาพและราคาถูก โดยมีต้นทุนการยิงเพียง 2,000 วอนต่อครั้ง (ประมาณ 52 บาท) อีกทั้งยังปฏิบัติการได้อย่างเงียบเชียบ และไม่เป็นที่สังเกตเห็น

“เกาหลีใต้กำลังจะเป็นประเทศแรกในโลกที่นำอาวุธเลเซอร์เข้าประจำการและใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่กองทัพในการตอบโต้ปฏิบัติการยั่วยุของโดรนเกาหลีเหนือ” DAPA ระบุ

ทางหน่วยงานยังบอกด้วยว่า อาวุธเลเซอร์จะเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ในสงครามซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต

โฆษก DAPA ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาวุธเลเซอร์ตัวนี้สามารถยิงทำลายโดรนที่บินอยู่ด้วยการสาดลำแสงเข้าไปเผาเครื่องยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในตัวโดรน เป็นระยะเวลา 10-20 วินาที

เกาหลีเหนือส่งโดรน 5 ลำเข้าไปในเขตน่านฟ้าเกาหลีใต้เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว จนทำให้กองทัพโซลต้องส่งเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์โจมตีขึ้นไปยิงพวกมันตก ซึ่งถือเป็นการส่งอากาศยานรุกล้ำน่านฟ้าครั้งแรกตั้งแต่ปี 2017

สงครามเกาหลีในช่วงปี 1950-53 ปิดฉากด้วยข้อตกลงหยุดยิง ทว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่เคยลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ จึงเท่ากับว่าเกาหลีเหนือและใต้ยังคงเป็น “คู่สงครามทางเทคนิค” มาจนถึงปัจจุบัน และมี “เขตปลอดทหาร” (DMZ) กั้นกลางระหว่างดินแดนทั้ง 2 ฝ่าย

สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ทั้งเกาหลีเหนือและใต้ต่างก็ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงด้วยการส่งโดรนเข้าไปในเขตน่านฟ้าของกันและกัน

เกาหลีใต้ จีน และสหราชอาณาจักร ต่างมีโครงการพัฒนาอาวุธเลเซอร์หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาวุธโจมตีด้วยพลังงานตรง (directed energy weapons) โดยอาวุธประเภทนี้มีประโยชน์ในแง่ของการรับมือการแพร่กระจายของระบบไร้คนขับ (unmanned systems) รวมถึงใช้เพื่อล็อกเป้าทำลายขีปนาวุธหรือดาวเทียมในวงโคจร ตามข้อมูลจากสถาบันคลังสมอง RAND Corporation

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น