xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกจีนซัดแหลก! ร่างแถลงการณ์ร่วม ‘นาโต’ โจมตีจีนด้วยถ้อยคำ ‘โกหก-ยั่วยุสงคราม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกคณะผู้แทนจีนประจำสหภาพยุโรปออกมาวิจารณ์ร่างแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่าเต็มไปด้วยถ้อยคำที่สะท้อนถึงการ “กระพือไฟสงคราม” (belligerent rhetoric) และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนก็มีลักษณะยั่วยุ และนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ

ร่างแถลงการณ์ร่วมของนาโตระบุว่า จีนได้กลายเป็น “ผู้สนับสนุนที่มีอำนาจชี้ขาด” (decisive enabler) ต่อสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครน และปักกิ่งยังคงเป็น “ความท้าทายที่เป็นระบบ” (systematic challenges) ต่อยุโรปและต่อความมั่นคงโดยรวม

“อย่างที่พวกเราทุกคนทราบ จีนไม่ใช่ผู้ที่ก่อวิกฤตการณ์ขึ้นในยูเครน” โฆษกจีนระบุในถ้อยแถลงซึ่งออกโดยคณะผู้แทนจีนประจำอียูวันนี้ (11)

“แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมซัมมิตนาโตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เต็มไปด้วยแนวคิดยุคสงครามเย็น และถ้อยคำที่กระพือไฟสงคราม และเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนก็เต็มไปด้วยการยั่วยุ คำโกหก การปลุกปั่นยุยง และการใส่ร้ายป้ายสี” โฆษกผู้นี้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว

ผู้นำนาโตได้แถลงย้ำคำมั่นสัญญาในการที่จะมอบสมาชิกภาพให้แก่ยูเครน ประกาศจุดยืนแข็งกร้าวต่อการที่จีนหนุนหลังรัสเซีย นอกจากนี้ ยังเลือกใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับจีนที่รุนแรงหนักหน่วงขึ้นกว่าเก่า

“จุดยืนหลักของจีนต่อปัญหายูเครนคือการสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ และการทำข้อตกลงทางการเมือง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกล้วนให้การยอมรับอย่างกว้างขวาง” โฆษกจีนเผย

ปักกิ่งเคยนำเสนอ “แผนสันติภาพ 12 ประการ” เมื่อราว 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา โดยกำหนดหลักการคร่าวๆ เพื่อนำไปสู่การยุติสงคราม แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับแบบเนือยๆ จากทั้งรัสเซียและยูเครนในเวลานั้น

รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของนาโตมาแล้วหลายครั้ง และยังเตือนให้นาโตหยุดคิดที่จะสยายอิทธิพลเข้ามายังเอเชีย-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม ผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตนาโตครั้งนี้ด้วย ต่างเลือกที่จะกระชับความสัมพันธ์กับนาโต ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาแถลงเมื่อวันพุธ (10) ว่า “จีนขอคัดค้านการกระทำของนาโตที่เกินไปจากขอบเขตของการเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันตนเองในภูมิภาค รวมถึงความพยายามที่จะสอดแทรกเข้ามาสู่เอเชีย-แปซิฟิกเพื่อยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการบ่อนทำลายความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้”

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น